การพัฒนาสังคมสันติประชาธรรมของผู้นำท้องถิ่นในจังหวัดชัยภูมิ

Main Article Content

ณรัฐ สวาสดิ์รัตน์

บทคัดย่อ

           การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาแนวคิดและวิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติประชาธรรมของประชาชนในจังหวัดชัยภูมิ 2) ศึกษารูปแบบสังคมสันติประชาธรรมในจังหวัดชัยภูมิ และ 3) สร้างชุมชนต้นแบบของสังคมสันติประชาธรรมในจังหวัดชัยภูมิ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน ใช้ทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ในเชิงคุณภาพศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้นำชุมชนและประชาชนจำนวน 40 รูป/คน และใช้การวิเคราะห์แบบอุปนัย ในเชิงปริมาณใช้การเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่าง 400 คนและวิเคราะห์ด้วยการพรรณนาและสถิติอนุมาน
         ผลการวิจัยพบว่า       
         การศึกษาแนวคิดและวิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติประชาธรรมของประชาชนในจังหวัดชัยภูมิ พบว่า 1) ความขัดแย้งที่รุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่น้อยมาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่มีความผูกพันทางเครือญาติ และไม่ค่อยมีปัญหาขัดแย้งในเรื่องทางการทำมาหากิน เพราะเป็นสังคมชนบทมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน 2) การยุติปัญหาความขัดแย้ง มักจะรอมชอมกันเองในครอบครัวก่อน ถ้าตกลงกันไม่ได้จึงจะให้ผู้ใหญ่บ้านมาไกล่เกลี่ย แต่หากเป็นเรื่องใหญ่อาจแจ้งความดำเนินคดี 3) ประชาชนเชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะทำให้ชีวิตงดงามขึ้น ทำให้ชีวิตสงบร่มเย็นจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างสิ่งจูงใจให้ประชาชนเข้าวัดเรียนรู้พระธรรมด้วยความเต็มใจ 4) ประชาชนไม่ได้มองความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง เพราะสังคมชนบทเป็นสังคมแคบๆสามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของแต่ละครอบครัวได้ มีการดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลงได้ 5) ความสามัคคีในชุมชน มาจากความสนิทสนมและเป็นเครือญาติด้วยเหตุที่เป็นชุมชนที่อพยพมาตั้งบ้านเรือนมาเป็นเวลานานมาก แม้จะมีคนถิ่นอื่นเข้ามาอยู่ภายหลัง แต่ความสนิทสนม ดูแลช่วยเหลือกันการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของชาวบ้านก็ทำให้เกิดความสามัคคีขึ้นตามธรรมชาติ
               1. การศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบสังคมสันติประชาธรรมในจังหวัดชัยภูมิพบว่า 1) บทบาทของพระสงฆ์กับสังคมสันติประชาธรรมต้องมีการร่วมกันปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม มีการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง พระสงฆ์ต้องมีบทบาทในสังคมมากขึ้นและประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมทางศาสนามากกว่าปัจจุบัน 2) บทบาทของผู้นำกับสังคมสันติประชาธรรมผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ดูแลไม่ให้มีผู้ใดละเมิด ระเบียบวินัยและข้อบังคับต่างๆที่กำหนด 3) บทบาทคณะกรรมการหมู่บ้านของสังคมสันติประชาธรรมควรมีบทบาทในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่การวางแผนวางนโยบาย การดำเนินงานจนถึงการกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ 4) ความสำคัญของกฎ ระเบียบ ข้อบังคับกับสังคมสันติประชาธรรมกฎระเบียบของชุมชนจะต้องถูกกำหนดขึ้นตามความต้องการของประชาชนในชุมชน ไม่ขัดกับหลักกฎหมายบ้านเมืองและไม่ขัดกับศีลธรรมทางศาสนา โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐและพระสงฆ์มีความรู้เป็นที่ปรึกษา 5) การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการสร้างสังคมสันติประชาธรรมคนในสังคมจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับและร่วมในการเขียนธรรมนูญหมู่บ้านที่เป็นรูปธรรมขึ้น
         2. การศึกษาชุมชนต้นแบบของสังคมสันติประชาธรรมในจังหวัดชัยภูมิ พบว่า 1) รูปแบบชุมชนวิถีพุทธเป็นรูปแบบของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีธรรมะคอยประคับ ประคองให้ประชาชนดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องตามธรรมนองครองธรรม การรักษาศีล 5 อย่างจริงจัง 2) รูปแบบชุมชนอหิงสาเป็นรูปแบบของการอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียนไม่ทำร้ายผู้อื่นไม่ปฏิบัติผิดต่อผู้อื่น ไม่ว่าด้วยกาย วาจา หรือใจและไม่ใช้ความรุนแรง 3) รูปแบบชุมชนประชาธิปไตย เป็นรูปแบบของการอยู่ร่วมกันโดยมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค มีหน้าที่ป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ตนเองและผู้อื่น 4) ประชาชนทั้ง 6 อำเภอเห็นว่าควรนำเอาชุมชนวิถีพุทธมาเป็นชุมชนต้นแบบของสังคมสันติประชาธรรม โดยไม่ต้องนำรูปแบบชุมชนอื่นมาบูรณาการ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

เนตร์พัณณา ยาวิราช. (2546). ภาวะผู้นำและผู้นำเชิงกลยุทธ์. กรุงเทพมหานคร: เซ็นทรัลเอ็กซ์เพรส.

มนตรี พีรพลพิพัฒน์. (2540). จริยธรรมกับภาวะผู้นำ: ศึกษาทัศนะนักวิชาการรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่มีต่อผู้นำทางการเมือง. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหิดล.

กรมการศาสนา. (2547). คู่มือการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม สำหรับผู้บริหาร. กรุงเทพมหานคร: กรมการศาสนา.

กุลธน ธนาพงศธร. (2544). การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

จารุวรรณ แก้วมะโน. (2551). “วาทกรรม "ชาวบ้าน" กับการจำกัดตนเองในการมีส่วนร่วมทางการเมือง” วิทยานิพนธ์ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง, คณะรัฐศาสตร์ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

บุญมั่น ธนาศุภวัฒน์. (2537). จิตวิทยาองค์การ. กรุงเทพมหานคร: โอ.เอ.พริ้นติ้งเฮ้าส์.

ประชุม โพธิกุล. (2551). ภาวะผู้นำในการบริหารการศึกษา. กรุงเทพมหานคร: สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา, กระทรวงศึกษาธิการ.

พัทยา สายหู. (2544). กลไกของสังคม. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2539). ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง. (พิมพ์ครั้งที่ 107). กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิพุทธธรรม.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2542). วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทเคล็ดไทย.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2549). การพัฒนาที่ยั่งยืน. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโกมล คีมทอง.

สุจิตรา ธนานันท์. (2550). การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

สุทธิ เหล่าฤทธิ์ และคณะ. (2545). ประวัติเมืองชัยภูมิ. กรุงเทพมหานคร: ด่านสุทธาการพิมพ์.