เพศวิถีและบทบาทการเป็นแม่ของแม่วัยรุ่นตั้งครรภ์ซ้ำในจังหวัดอุตรดิตถ์
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่อง เพศวิถีและบทบาทการเป็นแม่ของแม่วัยรุ่นตั้งครรภ์ซ้ำในจังหวัดอุตรดิตถ์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาเพศวิถีของแม่วัยรุ่นตั้งครรภ์ซ้ำผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ได้แก่ ครอบครัว โรงเรียน/สถานศึกษา เพื่อนและสื่อ ศึกษาบทบาทการเป็นแม่ กระบวนการรับบทบาทการเป็นแม่ การสนับสนุนจากสังคม และผลกระทบของการตั้งครรภ์ซ้ำ เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ ผ่านวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) ซึ่งได้แก่ แม่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ซ้ำในจังหวัดอุตรดิตถ์จำนวน 12 ราย
จากการศึกษา พบว่า แม่วัยรุ่นผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมเรื่องเพศ ดังนี้ 1.ครอบครัว ให้การอบรมสั่งสอนในฐานะเพศหญิง เช่น การแต่งกาย การวางตัว ที่เหมาะสมกับเพศ กลับบ้านให้ตรงเวลา และห้ามมีแฟนในวัยเรียน 2.โรงเรียน/สถาบันการศึกษา พบว่า เนื้อหาในวิชาเพศศึกษา ไม่น่าสนใจ ให้ความสำคัญกับการรักนวลสงวนตัว และมีมาตรการลงโทษสำหรับนักเรียนที่มีพฤติกรรมชู้สาว 3.การคบเพื่อนและสื่อ พบว่า แม่วัยรุ่นส่วนมากมีเพื่อนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ยอมรับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ พูดคุยถึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนได้อย่างเปิดเผย ส่วนอิทธิพลของสื่อ พบว่า แม่วัยรุ่นค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการมีความรัก การมีเพศสัมพันธ์ การป้องกันการตั้งครรภ์ และอาการของคนตั้งครรภ์ว่าเป็นอย่างไร
การแสดงบทบาทการเป็นแม่ของแม่วัยรุ่นตั้งครรภ์ซ้ำ พบว่า แม่วัยรุ่นผ่านกระบวนการรับรู้ถึงการตั้งครรภ์ การให้ความหมาย การยอมรับ และการสามารถทำหน้าที่แม่ได้เป็นอย่างดี โดยการหาความรู้เพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ต ใช้ความรู้จากผู้เป็นแม่และยาย ปัจจัยที่สนับสนุนในการแสดงบทบาทการเป็นแม่ ได้แก่ พ่อ แม่ ตา ยาย สามี และครอบครัวของสามี ส่วนผลกระทบของแม่วัยรุ่นตั้งครรภ์ซ้ำ พบว่า ด้านร่างกาย มีอาการ มีภาวะความโลหิตดันสูง ทารกมีปัญหาสุขภาพ ด้านจิตใจและสังคม แม่วัยรุ่นมีความกดดัน จากการไม่ยอมรับเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยเรียน และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ พบว่า แม่วัยรุ่นมีปัญหาเรื่องรายได้ที่นำมาใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงบุตรไม่เพียงพอ
ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาครั้งนี้ คือ การมีส่วนร่วมของครอบครัว สถาบันการศึกษา องค์กรด้านสาธารณะสุข ต้องให้ความรู้เรื่องเพศที่สามารถนำไปสู่การป้องกันการตั้งครรภ์ได้จริง ให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ และให้ความช่วยเหลือให้แม่วัยรุ่นมีอาชีพและรายได้
Article Details
References
เกตย์สิรี ศรีวิไล. (2559). การตั้งครรภ์ซ้ำในมารดาวัยรุ่น ในโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งของภาคใต้. วารสารเครือข่ายวิทยาลัยพยาบาลและการสาธารณสุขภาคใต้, 3(3), 142-152
ทรงยศ พิลาสันต์. (2557). สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทย ปี 2556 โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ .
นพวรรณ ศรีวงค์พานิช. (2557). คู่มือพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์เด็กปฐมวัยสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง. กรุงเทพมหานคร: สถาบันราชานุกูล
อมรา พงศาพิชญ์. (2548). เพศสถานะและเพศวิถีในสังคมไทย. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อภิชาติ จิตต์เจริญ,และ สมพล พงศ์ไทย. (2540). การบริบาลสตรีตั้งครรภ์. ในประทักษ์ โอประเสริฐ, วินิต พัวประดิษฐ์, และ สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล (บรรณาธิการ). สูติศาสตร์ รามาธิบดี 2. กรุงเทพมหานคร: โฮลิสติกพับลิชชิ่งจำกัด.
อวยพร เขื่อนแก้ว. (2553). การอบรมเพศวิถีเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม โครงการผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม ปี 2550 ถึง 2553. ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2561 แหล่งที่มา http://womenforpeaceandjustice.org/.