การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน : กรณีศึกษา กลุ่มสตรีบ้านดอนสวรรค์ หมู่ที่ 14 ตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์

Main Article Content

นิวัฒน์ สาระขันธ์

บทคัดย่อ

         การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์  1) เพื่อศึกษาบริบทและ ศักยภาพด้านการผลิตของกลุ่มสตรีบ้าน  ดอนสวรรค์  2) เพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีความหลากหลาย โดยผ่านกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม และ 3) เพื่อติดตามและประเมินผลการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสตรีบ้าน   ดอนสวรรค์ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ทำการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง โดยทำการศึกษากับกลุ่มสตรีบ้าน  ดอนสวรรค์  หมู่ที่ 14  ตำบลดงลิง  อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 20 คน การวิจัยในครั้งนี้ใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม โดยแบ่งเป็น3 ระยะ ดังนี้  ระยะที่ 1 ศึกษาบริบท ศักยภาพ และความต้องการในการพัฒนา ระยะที่ 2 พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ และระยะที่ 3 ติดตามและประเมินผล เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง แบบประเมินความพึงพอใจแบบวัดผลสัมฤทธิ์ของการฝึกอบรม และแบบประเมินผลงาน ผลการศึกษาวิจัย สรุปได้ดังนี้
          ผลการศึกษาบริบทและศักยภาพของกลุ่มสตรีบ้านดอนสวรรค์พบว่า การผลิตกระเป๋า ผ้าพื้นเมืองของกลุ่มบ้านดอนสวรรค์ เป็นการประกอบอาชีพเสริมและอาชีพหลักสำคัญที่เกิดจากการ ที่ชาวบ้านได้เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพมหานคร และได้ทำงานที่โรงงานผลิตกระเป๋า แล้วกลับมาประกอบกิจการเย็บกระเป๋าที่บ้าน จึงเกิดการจัดตั้งกลุ่มในนามของกลุ่มสตรีบ้านดอนสวรรค์ การรวมกลุ่มกันในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีงานทำและมีรายได้ตามกำลังความรู้ความสามารถและความชำนาญงาน
         ผลการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ทำให้สมาชิกกลุ่มได้รับความรู้และประสบการณ์เพิ่มมากขึ้นจากการศึกษาดูงาน และการฝึกอบรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ของชุมชน โดยมีการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะด้านการออกแบบ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์กระเป๋า และสามารถทำการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเป๋าในรูปแบบต่างๆ ได้ ผลการวิเคราะห์เชิงปริมาณในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งการประเมินความพึงพอใจของสมาชิกผู้เข้ารับการอบรมต่อการฝึกอบรมโดยรวมอยู่ในระดับมาก  ผลการวิเคราะห์การประเมินการอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทำให้สมาชิกมีความรู้เพิ่มมากขึ้นหลังจากการฝึกอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01  
           ผลการประเมินผลงานการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ พบว่าการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์กระเป๋าในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก  

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

พินพัสนีย์ พรหมศิริ.(2547). กลยุทธ์การตลาดสำหรับยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง. สถาบันราชภัฏสวนดุสิต ประชาชาติธุรกิจ หน้า 6 วันที่ 01 มกราคม 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 3545(2745) )

วัชรินทร์ จรุงจิตสุนทร. (2548). หลักการและแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์. กรุงเทพมหานคร: แอ๊ปป้าพริ้นติ้งกรุ๊ป จำกัด.

สมประสงค์ พาโพพันธ์. (2560). รองประธานกลุ่มสตรีบ้านดอนสวรรค์ อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์. (วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560). สัมภาษณ์

สำราญ พรพลทอง.(2548). การศึกษากระบวนการผลิตและผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการผลิตกระเป๋าของชาวบ้าน: กรณีศึกษาบ้านดอนสวรรค์และบ้านดอนหวาย ตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

สิทธิณัฐ ประพุทธนิติศาสตร์. (2547). การวิจัยเชิงปฏิบัติการณ์แบบมีส่วนร่วม:แนวคิดและแนวปฏิบัติ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: สานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

อภิชาติ ใจอารีย์. 2559. การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ .ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2559. แหล่งที่มา: http://research.pcru. ac.th/rdb/pro_data/files/5503028.pdf.

เอกลักษณ์ กาลมิตร. (2542). การประกอบอาชีพตัดเย็บกระเป๋าของชาวบ้านลาด ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม