การพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยการจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานตามแนวคิดสะเต็มศึกษา เรื่อง ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

Main Article Content

อรอนงค์ เมืองคง
ธิติยา บงกชเพชร

บทคัดย่อ

          งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ด้วยกัน 2 ประการกล่าวคือ ประการที่ 1 เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียน ประการที่ 2 เพื่อศึกษาการพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียน ดำเนินการวิจัยตามกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 13 คน เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้เรื่อง ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แบบทดสอบความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารญาณ แบบสังเกตความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ แบบทดสอบความสามารถในการแก้ปัญหา แบบสังเกตความสามารถในการแก้ปัญหา แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้และแบบสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ จากนั้นผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคำนวณหาค่าทางสถิติ อันได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
          ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหาของนักเรียนได้ คือ การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานตามแนวคิดสะเต็มศึกษาที่มีขั้นตอน ดังนี้ ครูนำสถานการณ์ปัญหาที่เกี่ยวกับไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และส่งเสริมกระบวนการคิดของนักเรียนมาให้นักเรียนอ่าน นักเรียนหาความรู้ที่ใช้ในการแก้ปัญหาร่วมกันโดยใช้องค์ความรู้ของ STEM ครูให้นักเรียนรับทราบเงื่อนไขในการแก้ปัญหาและร่วมกันวางแผนออกแบบชิ้นงานรวมทั้งวางแผนสำรองไว้เผื่อแผนแรกล้มเหลว ทดสอบการทำงานของชิ้นงาน เมื่อพบข้อผิดพลาด จะแก้ไขได้ตรงจุดและรวดเร็ว นักเรียนประเมินชิ้นงานของตนเองและอธิบายความรู้ที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาร่วมกัน ส่วนผลของการพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา พบว่า นักเรียนสามารถพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณจากระดับปรับปรุงและพอใช้ เป็นระดับดี จำนวน 11 คน และสามารถพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาจากระดับปรับปรุงและพอใช้ เป็นระดับดี จำนวน 8 คน โดยนักเรียนส่วนใหญ่มีระดับคุณภาพเพิ่มขึ้นในทุกวงจรปฏิบัติการตลอดการจัดการเรียนรู้


         

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กระทรวงศึกษาธิการ. (2551). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพมหานคร: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

ชัชวาล ต้นสีนนท์. (2553). ความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องเสียง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้รูปแบบการสอนตามแนวคิด วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสังคม (STS). รายงานการศึกษาอิสระปริญญาศึกษาศาสตร มหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ดารารัตน์ ชัยพิลา. (2558). ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานตามแนวคิด STEM Education ที่มีต่อความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง ปฏิกิริยาเคมี ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. พิษณุโลก: มหาวิทยาลัยนเรศวร

ทิศนา แขมมณี. (2557). ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. กรุงเทพมหานคร: สํานักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วันเพ็ญ ปัญญาสิงห์. (2554). การพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาเคมีเรื่องสารชีวโมเลกุล ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้รูปแบบวัฏจักรการเรียนรู้ 4 MAT. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา หลักสูตรและการสอน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

วิจารณ์ พานิช. (2555). วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ 21. กรงุเทพมหานคร: มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์.

สุคนธ์ สินธพานนท์, วรรัตน์ วรรณเลิศลักษณ์ และพรรณี สินธพานนท์. (2555). พัฒนาทักษะการคิดตามแนวปฏิรูปการศึกษา. กรุงเทพมหานคร: 9119 เทคนิคพริ้นติ้ง.

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2562). ความรู้เบื้องต้นสะเต็มศึกษา. กรุงเทพมหานคร: สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2553). แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพมหานคร: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร แห่งประเทศไทย.