การพัฒนาชุมชนเข้มแข็งเพื่อยกระดับเป็นหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ : กรณีศึกษา บ้านกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาสภาพการพัฒนาหมู่บ้านรักษาศีล 5 บ้านกำแพงดิน 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างหลักภาวนากับการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งเพื่อยกระดับเป็นหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ และ 3) นำเสนอแนวทางในการยกระดับเป็นหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ ดำเนินการตามระเบียบวิธีวิจัยแบบผสานวิธี โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่าง คือ ประชาชน จำนวน 343 รูป/คน ที่ได้มาจากการแทนค่าในสูตรของ Taro Yamane เครื่องมือ คือ แบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดย หาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 18 รูป/คน วิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า 1) สภาพการพัฒนาหมู่บ้านรักษาศีล 5 บ้านกำแพงดิน ตามหลักภาวนา 4 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และตามหลักกิจกรรมของโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก 2) ความสัมพันธ์ของหลักภาวนากับการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งเพื่อยกระดับเป็นหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ พบว่า มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เชิงบวกในระดับสูง (r = 0.788) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และ 3) แนวทางในการยกระดับเป็นหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ คือ (1) การสร้างเครือข่ายหมู่บ้านรักษาศีล 5 เชิงอำนาจหน้าที่ (2) การสร้างเครือข่ายหมู่บ้านรักษาศีล 5 เชิงประเด็น (3) การสร้างเครือข่ายหมู่บ้านรักษาศีล 5 เชิงพื้นที่
Article Details
References
กรมการพัฒนาชุมชน. (2547). เอกสารวิชาการ การจัดการความรู้การพัฒนาชุมชน : องค์ความรู้การพัฒนา ชุมชน ชุดที่ 1. กรุงเทพมหานคร: บีทีเอส เพรส.
พรรณเพ็ญ วัฒนมงคลลาภ. (2560). แนวทางในการพัฒนาชุมชนในเขตอำเภอเมืองแพร่ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน. วิทยานพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยว. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.
พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ (นนฺทิโย ประยูร). (2559). บทบาทการพัฒนาชุมชนของวัดอินทาราม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระใบฏีกาสุพจน์ ตปสีโล. (2560). การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน : การเชื่อมโยง ชุมชนเศรษฐกิจ พอเพียง และ หมู่บ้านรักษาศีล 5 ในจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และสุรินทร์. รายงานการวิจัย. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2553). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 19). นนทบุรี: เอส. อาร์. พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์.
วิศิษฐ์ ทวีสิงห์. (2560). การศึกษาวิเคราะห์แนวทางการส่งเสริมโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาพระพุทธศาสนา). บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพิจิตร. (2561). รายงานการดำเนินงานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” หมู่ 2 บ้านกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร (อัดสำเนา).
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (2557). คู่มือการดำเนินงาน โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.