ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ขัดต่อศีลธรรมของผู้ตายซึ่งตกทอดแก่วัด

Main Article Content

กิตติทร สุดประเสริฐ

บทคัดย่อ

          ตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ได้กำหนดให้ “วัด” มีฐานะเป็นนิติบุคคล ดังนี้แล้ว วัดก็ย่อมสามารถเป็นผู้ทรงสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายได้เช่นบุคคลธรรมดา ซึ่งรวมถึงสิทธิในการรับทรัพย์สินของผู้ตายด้วยนั่นเอง แต่ทั้งนี้วัดย่อมมีสิทธิและหน้าที่ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ตามที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดไว้ 
          แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก กำหนดให้ทรัพย์สินของผู้ตายตกแก่วัดได้ ไม่ว่าตกเป็นสมบัติแก่วัดอันเป็นภูมิลำเนาของภิกษุโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 1623 หรือตกทอดอย่างมรดกโดยพินัยกรรมตามมาตรา 1646 ก็ตาม หากทรัพย์สินที่ตกทอดแก่วัดนั้นโดยสภาพมีลักษณะที่ขัดต่อศีลธรรม ซึ่งอาจมีลักษณะเป็นการมัวเมาอบายมุขอย่างสถานบันเทิงผับบาร์ หรือเป็นการประพฤติผิดในกามอย่างสถานอาบอบนวด หรือเป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่างโรงฆ่าสัตว์ เช่นนี้ทรัพย์สินเหล่านั้นหรือที่มีลักษณะในทำนองดังกล่าวย่อมไม่สามารถตกแก่วัดได้เลยทั้งสองกรณี
          อย่างไรก็ตาม การที่ทรัพย์สินของผู้ตายไม่สามารถตกแก่วัดได้ทั้งสองกรณีข้างต้นเป็นไปโดยผลของกฎหมายที่ต่างกัน กล่าวคือ เนื่องจากทรัพย์สินนั้นขัดต่อขอบอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ของวัดเอง ตามมาตรา 66 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ กรณีหนึ่ง หรือพินัยกรรมที่เจ้ามรดกยกทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่วัดนั้นเป็นนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 150 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกกรณีหนึ่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินของผู้ตายจะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ก็ตาม

Article Details

บท
บทความวิชาการ

References

กิตติศักดิ์ ปรกติ. (2563). คำอธิบายกฎหมายลักษณะบุคคล. (พิมพ์ครั้งที่ 10) . กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน.
เฉลิมชัย เกษมสันต์, ม.ล. (2554). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก. (พิมพ์ครั้งที่ 6) . กรุงเทพมหานคร: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา.
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. (2537). คำอธิบายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติธรรม.
ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช. (2560). ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พินัย ณ นคร. (2558). กฎหมายลักษณะมรดก. (พิมพ์ครั้งที่ 4) . กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน.
เพรียบ หุตางกูร. (2563). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก. (พิมพ์ครั้งที่ 17) . กรุงเทพมหานคร: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ไพโรจน์ กัมพูสิริ. (2563). หลักกฎหมายมรดก. (พิมพ์ครั้งที่ 7) . กรุงเทพมหานคร: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
วรพจน์ วิศรุตพิชญ์. (2549). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก. (พิมพ์ครั้งที่ 2) . กรุงเทพมหานคร: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
วรเจตน์ ภาคีรัตน์. (2555). คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักทั่วไปของกฎหมายมหาชน . กรุงเทพมหานคร: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สมยศ เชื้อไทย. (2561). ความรู้กฎหมายทั่วไป. (พิมพ์ครั้งที่ 24) . กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน.
เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว. (2508). กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวมฤดก. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เสริม วินิจฉัยกุล. (2496). กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมฤดก. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง. (2526). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก. (พิมพ์ครั้งที่2). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติบรรณการ.