ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อ ของพยาบาลที่ปฏิบัติงานที่ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน
Abstract
Factors affecting Infection Prevention Behavior among Nurses Working at Emergency Rooms
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อของพยาบาลห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน กลุ่มตัวอย่าง 43 คนเป็นพยาบาลประจำห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินของศูนย์การแพทย์ 2 แห่ง เครื่องมือวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถาม 6 ฉบับ: 1) ข้อมูลทั่วไป 2) การรับรู้ความรุนแรงของการติดเชื้อ 3) การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 4) การรับรู้ความสามารถตนเองในการป้องกันการติดเชื้อ 5) การรับรู้ความเพียงพอของอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และ 6) พฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยความแปรปรวนแบบทางเดียว ทดสอบค่าที การถดถอยแบบพหุคูณและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการศึกษาพบว่าพยาบาลมี: 1) การรับรู้ความรุนแรงและโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รับรู้ความสามารถตนเองและความเพียงพอของอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อในระดับสูงและมีพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้ออยู่ในระดับดี 2) ความแตกต่างของอายุและวุฒิการศึกษาไม่มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อ แต่ประสบการณ์ทำงานและการฝึกอบรมการป้องกันการติดเชื้อมีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อ (p<.05) 3) ประสบการณ์ฝึกอบรมการป้องกันการติดเชื้อและประสบการณ์ทำงานที่มากกว่าสามารถทำนายโอกาสเกิดพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อ (p<.01) กลุ่มตัวอย่างที่มีประสบการณ์ฝึกอบรมการป้องกันการติดเชื้อจะมีโอกาสเกิดพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีประสบการณ์ฝึกอบรมการป้องกันการติดเชื้อ 3 เท่า และกลุ่มตัวอย่างที่มีประสบการณ์ทำงานที่มากกว่าจะมีโอกาสเกิดพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีประสบการณ์ทำงานน้อยกว่า 2 เท่า และ 4) การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการติดเชื้อไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อ แต่การรับรู้ความรุนแรงของการติดเชื้อ ความสามารถตนเองและความเพียงพอของอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อ (p<.01) ข้อเสนอแนะที่สำคัญคือให้หน่วยงานดำเนินนโยบายฝึกอบรมการป้องกันการติดเชื้ออย่างต่อเนื่องและสนับสนุนให้มีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่างเพียงพอ
คำสำคัญ:ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน การป้องกันการติดเชื้อ พยาบาล