ประสบการณ์ชีวิตการเป็นอาสาสมัครดวงตามืด : การศึกษาเชิงปรากฏการณ์วิทยา

Authors

  • ศิวพร (Siwaporn) ละม้ายนิล (Lamainil) นิสิตระดับมหาบัณฑิต สาขาการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • ฐาศุกร์ (Thasuk) จันประเสริฐ (Junprasert) อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Abstract

Life Experiences of the Blind Volunteer : A Phenomenological Study

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครและค้นหาแก่นประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครดวงตามืด ทำความเข้าใจการให้ความหมายและลักษณะของอาสาสมัคร รวมทั้งเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเป็นอาสาสมัคร นอกจากนี้ยังค้นหาแนวทางการพัฒนาการทำหน้าที่อาสาสมัครอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพตามแนวทางการศึกษาเชิงปรากฏการณ์วิทยาแบบอุตรวิสัย ในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ ภายใต้ประสบการณ์และมุมมองของอาสาสมัครดวงตามืดเก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นหลักกับอาสาสมัครดวงตามืด จำนวน 8 คน และทำการสนทนากลุ่มกับอาสาสมัครที่มีสายตาปกติ จำนวน 5 คน เพื่อค้นหาแนวทางในการพัฒนาการทำหน้าที่อาสาสมัครอย่างมีประสิทธิภาพ ผลการศึกษา ประสบการณ์ชีวิตอาสาสมัครดวงตามืดก่อนเป็นอาสาสมัครในนิทรรศการได้เคยผ่านประสบการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเกื้อกูลมาแล้วทั้งสิ้น ทั้งที่เป็นประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตนเองจากการถ่ายทอดทางสังคมจากครอบครัว สถาบันการศึกษา เมื่อเข้ามาเป็นอาสาสมัครในนิทรรศการได้เรียนรู้ประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครดวงตามืด โดยแบ่งได้ 3 ช่วง ได้แก่ 1) การก่อเกิดประสบการณ์การเป็นอาสาสมัคร2) กระบวนการของประสบการณ์การเป็นอาสาสมัคร และ3) ผลของประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครส่วนการให้ความหมายนั้นมีทั้งความหมายทั่วไปและความหมายเฉพาะเจาะจงในนิทรรศการบทเรียนแห่งความมืด โดยมีความหมายที่เป็นจุดร่วมกันคือ การมุ่งทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม สำหรับการให้ความหมายลักษณะของอาสมัครมีทั้งที่เป็นลักษณะของงาน เช่น เป็นงานที่มีความท้าทาย เป็นงานที่สร้างคุณค่าให้แก่สังคม เป็นต้น และลักษณะของคนที่เป็นอาสาสมัคร เช่น เป็นคนที่ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข เป็นผู้ที่มีความกล้าแสดงออก เป็นต้นส่วนเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการเป็นอาสาสมัครมีทั้งที่เป็นเงื่อนไขส่วนบุคคลและเงื่อนไขจากสภาพแวดล้อมทางสังคม และจากการศึกษาครั้งนี้ทำให้ค้นพบแก่นประสบการณ์ของการเป็นอาสาสมัครดวงตามืด คือ การเห็นคุณค่าในตนเอง อันเป็นลักษณะที่มีร่วมกันของอาสาสมัครดวงตามืดและไม่แปรเปลี่ยนไปตามบริบทหรือสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนไป นอกจากนี้ทั้งอาสาสมัครดวงตามืดและอาสาสมัครที่สายตาปกติได้ให้มุมมองเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาการทำหน้าที่อาสาสมัครดวงตามืดอย่างมีประสิทธิภาพทั้งที่เป็นแนวทางในการพัฒนานิทรรศการ และแนวทางในการพัฒนาอาสาสมัครดวงตามืด

คำสำคัญ:ประสบการณ์ชีวิต, อาสาสมัครดวงตามืด, การศึกษาเชิงปรากฏการณ์วิทยา

Downloads

Published

2015-01-31

How to Cite

ละม้ายนิล (Lamainil) ศ. (Siwaporn), & จันประเสริฐ (Junprasert) ฐ. (Thasuk). (2015). ประสบการณ์ชีวิตการเป็นอาสาสมัครดวงตามืด : การศึกษาเชิงปรากฏการณ์วิทยา. Journal of Behavioral Science for Development, 7(1). Retrieved from https://so02.tci-thaijo.org/index.php/JBSD/article/view/29928