พฤติกรรมใฝ่เรียนรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนสังกัด สังฆมณฑลราชบุรี จังหวัดราชบุรี
Abstract
Learning Inquiry Behavior of Junior High School Students of the Schools of Ratchaburi Diocese in Ratchaburi Province
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับการเห็นคุณค่าในตนเอง ลักษณะมุ่งอนาคต การได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัว การส่งเสริมบรรยากาศในการเรียนรู้จากครู และพฤติกรรมใฝ่เรียนรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี จังหวัดราชบุรี 2) ศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมใฝ่เรียนรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี จังหวัดราชบุรีจำแนกตามข้อมูลส่วนบุคคลได้แก่ เพศ ระดับชั้นเรียน คะแนนเฉลี่ย การติดตามดูแลการเรียนจากผู้ปกครอง ประเภทของนักเรียน และการมีพื้นที่ในการเรียนรู้ 3) เพื่อศึกษาว่าการเห็นคุณค่าในตนเอง ลักษณะมุ่งอนาคต การได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัว และการส่งเสริมบรรยากาศในการเรียนรู้จากครูสามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมใฝ่เรียนรู้ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี จังหวัดราชบุรี กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี จังหวัดราชบุรี จำนวน 334 คน ได้มาโดยใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) วิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มโดยใช้การทดสอบค่าที (t-test) แบบ Independent t-test วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2 กลุ่ม โดยการทดสอบความแปรปรวนทางเดียว (One-way Analysis of Variance) และวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณตามลำดับความสำคัญของตัวแปรที่นำเข้าสมการ (Stepwise Multiple Regression Analysis) ผลการวิจัยพบว่า 1) พฤติกรรมใฝ่เรียนรู้ การเห็นคุณค่าในตนเอง ลักษณะมุ่งอนาคต การได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัว และการส่งเสริมบรรยากาศในการเรียนรู้จากครู อยู่ในระดับมาก 2) พฤติกรรมใฝ่เรียนรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เมื่อจำแนกตาม ระดับชั้นเรียน การติดตามดูแลการเรียนจากผู้ปกครอง และการมีพื้นที่ในการเรียนรู้ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อจำแนกตาม เพศ ระดับคะแนนเฉลี่ย และประเภทของนักเรียน ไม่พบความแตกต่าง 3) การเห็นคุณค่าในตนเอง การส่งเสริมบรรยากาศในการเรียนรู้จากครู ลักษณะมุ่งอนาคต และ การได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัว สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมใฝ่เรียนรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี จังหวัดราชบุรี ได้ร้อยละ 60.1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001
คำสำคัญ:พฤติกรรมใฝ่เรียนรู้ การเห็นคุณค่าในตนเอง ลักษณะมุ่งอนาคต การได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัว การส่งเสริมบรรยากาศในการเรียนรู้จากครู นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น