การพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศในสังคมไทย
Abstract
The development of a Learning Process about Sexuality in Thai Society
บทคัดย่อ
การวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศในสังคมไทย เป็นส่วนหนึ่งที่ตอบสนองเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้เด็กและเยาวชนมีความรู้และทักษะ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาวัยรุ่นที่มีอายุน้อย ตั้งครรภ์ไม่พร้อมในสังคมไทย วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษา (1) ประสิทธิผลของรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศ “ก้าวย่างอย่างเท่าทัน” ในด้านการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ ความเชื่อทางเพศ ความคิดที่แตกต่างระหว่างเพศ การสัมผัส ความรักและทางเลือก ทักษะการปฏิเสธและการหลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ และ (2) ความสัมพันธ์ของเจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นและผลการจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศ “ก้าวย่างอย่างเท่าทัน”กับพฤติกรรมการเรียนรู้เรื่องเพศที่เสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Design) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ แผนจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศ “ก้าวย่างอย่างเท่าทัน” จำนวน 8 แผน ประกอบด้วย 1. ก้าวย่างสู่วัยหนุ่มสาว 2. สิ่งที่คิดหรือเชื่อนั้นถูกหรือผิด 3. ชาย-หญิง คิดอย่างไร 4. การสัมผัส 5. จินตนาการรักสู่ทางเลือก ตอนที่ 1 6. จินตนาการรักสู่ทางเลือก ตอนที่ 2 7. จินตนาการรักสู่ทางเลือก ตอนที่ 3 8. ทักษะการปฏิเสธและการหลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ และแบบวัดเจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ หลักการจัดกระบวนการเรียนรู้ใช้แนวความคิดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (The Experiential Learning) กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีอายุระหว่าง 10 - 12 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 110 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยการทดสอบค่าที (t-test) ผลการทดลอง พบว่า (1) ประสิทธิผลของรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศ “ก้าวย่างอย่างเท่าทัน” ในด้านการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ ความเชื่อทางเพศ ความคิดที่แตกต่างระหว่างเพศ การสัมผัส ความรักและทางเลือก ทักษะการปฏิเสธและการหลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ โดยรวมมีผลต่อการรับรู้ของผู้เรียน เห็นได้จากคะแนนเฉลี่ย ภายหลังการเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศ “ก้าวย่างอย่างเท่าทัน” ของกลุ่มทดลองสูงกว่าคะแนนก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และคะแนนเฉลี่ยหลังการเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศ “ก้าวย่างอย่างเท่าทัน” ของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 (2) เจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น และผลการจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศ “ก้าวย่างอย่างเท่าทัน” ในภาพรวมและรายด้านทุกด้านมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเรียนรู้เรื่องเพศที่เสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
คำสำคัญ:กระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศ “ก้าวย่างอย่างเท่าทัน” แผนการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศ