A Study of Persuasive Communication Efficiency in Bicycling Promotion to High School Students in Nan City

Authors

  • พลเดช เชาวรัตน์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

Abstract

การศึกษาประสิทธิภาพของการสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจในการส่งเสริมการใช้จักรยานที่มีต่อนักเรียนมัธยมในเมืองน่าน

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการสื่อสารแบบต่างๆ ที่ปรากฏในเขตเทศบาลเมืองน่าน เพื่อประเมินรูปแบบการสื่อสารแบบต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลในการเลือกใช้จักรยานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา และเพื่อเสนอแนวทางในการจัดกิจกรรมหรือโครงการเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยาน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยม ศึกษาโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษาและโรงเรียนสตรีศรีน่าน จำนวน 398 คน ซึ่งได้มาโดยกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างใช้สูตร Yamane (1967) และการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selected Sampling) เครื่องมือการวิจัย ประกอบด้วย การสังเกต การสัมภาษณ์เชิงลึก การสืบค้นเอกสาร และแบบสอบถาม ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ตัวแปรต้น คือ รูปแบบการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจ และตัวแปรตาม คือ ประสิทธิภาพของสื่อในการโน้มน้าวใจด้านการรับรู้ ด้านการยอมรับ และด้านการยอมรับปฏิบัติ ระยะเวลาวิจัย 5 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า การสื่อสารด้านจักรยานในเมืองน่านประสบความสำเร็จในการสร้างทัศนคติด้านบวกต่อการใช้จักรยานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในเขตเทศบาลเมืองน่าน เรื่องการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การประหยัดค่าใช้จ่าย และสุขภาพแข็งแรง แต่ไม่สามารถสร้างการรับรู้เรื่องจักรยานมีความสะดวกปลอดภัยและรวดเร็วได้ ดังนั้นจักรยานจึงใช้เพื่อการออกกำลังกาย ความสนุกสนาน และผ่อนคลายเป็นส่วนใหญ่ แต่การใช้จักรยานในกิจกรรมหลักในชีวิตประจำวันมีน้อย เช่น ไปทำธุระ ซื้อของ หรือไปโรงเรียน แม้ว่านักเรียนมีอัตราการใช้จักรยานสูง แต่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งจำเป็นต้องหาแนวทางแก้ปัญหา  รูปแบบการสื่อสารมีผลต่อการโน้มน้าวใจในการใช้จักรยานแตกต่างกัน รูปแบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการโน้มน้าวใจ ได้แก่ ขั้นการสร้างการรับรู้และการจดจำได้ คือ การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของชุมชน โครงสร้างพื้นฐานงานจักรยาน เช่น เส้นทางจักรยาน ร้านจักรยาน และร้านให้เช่าจักรยาน ขั้นการยอมรับและเห็นด้วยกับสาร คือ การใช้จักรยานของคนในชุมชน การสนับสนุนการใช้จักรยานของผู้ปกครองและเพื่อน และขั้นการยอมรับปฏิบัติ ไม่สามารถสรุปผลได้ว่ารูปแบบการสื่อสารใดมีประสิทธิภาพสูงสุดจากการวิจัยนี้

 

คำสำคัญ: ประสิทธิภาพของการสื่อสาร การสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจ การส่งเสริมการใช้จักรยาน

Downloads

How to Cite

เชาวรัตน์ พ. (2014). A Study of Persuasive Communication Efficiency in Bicycling Promotion to High School Students in Nan City. Journal of Behavioral Science for Development, 6(1). Retrieved from https://so02.tci-thaijo.org/index.php/JBSD/article/view/16000