ปัจจัยที่มีผลต่อหนี้สินในระบบของครัวเรือน บ้านสันธาตุ ตำบลศรีเมืองชุม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

ผู้แต่ง

  • ดร.จิรภา ศักดิ์กิตติมาลัย รองศาสตราจารย์ประจำสำนักวิชาบัญชี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

คำสำคัญ:

หนี้สิน, ระบบของครัวเรือน

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อหนี้สินในระบบของครัวเรือน บ้านสันธาตุ ตำบลศรีเมืองชุม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการกู้ยืมเงินในระบบของครัวเรือนเกษตรกร และปัจจัยที่มีผลต่อหนี้สินในระบบของครัวเรือนเกษตร บ้านสันธาตุ ตำบลศรีเมืองชุม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยใช้แบบสอบถามจากสมาชิกสหกรณ์การเกษตรแม่สาย จำกัด บ้านสันธาตุ ตำบลศรีเมืองชุม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จากสมาชิกสหกรณ์การเกษตรแม่สาย จำกัด จำนวน 136 ตัวอย่าง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศชายคิดเป็นร้อยละ 89.71 และเป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 10.30 ส่วนใหญ่มีอายุ 41-50 ปีคิดเป็นร้อยละ 31.62 รองลงมาอายุ 51 – 60 ปีคิดเป็นร้อยละ 29.41 ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาคิดเป็นร้อยละ 41.18 รองลงมาคือมัธยมศึกษาตอนปลายคิดเป็นร้อยละ 36.76 ส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรสคิดเป็นร้อยละ 80.15 รองลงมาคือสถานภาพหย่าร้าง คิดเป็นร้อยละ 10.29

พฤติกรรมการกู้ยืมเงินในระบบของครัวเรือนเกษตร ส่วนใหญ่มีรายจ่ายทั้งหมดต่อเดือน โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วง 5,000 – 10,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 40.44 บาท ปริมาณรายจ่ายทั้งหมดต่อเดือนโดยเฉลี่ยอยู่ในช่วง 10,000 – 15,000 บาทคิดเป็นร้อยละ 38.97 ปริมาณรายจ่ายทั้งหมดต่อเดือน โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วงน้อยกว่า 5,000 บาทคิดเป็นร้อยละ 17.65

ปัจจัยที่มีผลต่อหนี้สินในระบบของครัวเรือนเกษตร 3 ปัจจัยหลัก พบว่า ในภาพรวมของครัวเรือนเกษตร ได้ให้ความสำคัญด้านรายได้มากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยความสำคัญถึง 3.95 ซึ่งสิ่งที่มีผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าสำคัญที่สุดคือรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ปัจจัยที่เห็นว่าสำคัญรองลงมา คือ ปัจจัยด้านบริการ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.05 และสิ่งที่สำคัญที่สุดในด้านหนี้คือ ระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้ เพราะต้องตระหนักถึงความสามารถในการจ่ายคืน และปัจจัยสุดท้ายที่เห็นว่าสำคัญในระดับปานกลางเช่นเดียวกันนั้น คือปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายมีค่าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 2.62 โดยเห็นว่าการมีค่าใช้จ่ายใน ด้านการอุปโภคบริโภคสูงมีความสำคัญมากต่อภาระหนี้สิน

จากผลการศึกษาปัจจัยเรื่องรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย มีความสำคัญต่อการตัดสินใจก่อหนี้ ทำให้เกิดการตัดสินใจหาแหล่งเงินกู้ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งภาครัฐสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการแก้ปัญหา เพิ่มรายได้(เพิ่มผลผลิต/เพิ่มคุณภาพ/ยืดอายุผลผลิตฯลฯ) ลดรายจ่าย(จัดทำบัญชี/ช่วยลดต้นทุนต่างๆ/ฯลฯ) ขยายโอกาส(ให้ความรู้/ข้อกฎหมาย/การเอาเปรียบ) ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้

References

นิพนย์ ดิชวงศ์. 2546. การบริหารกองทุนหมู่บ้านเขตตำบลเมืองเล็น อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์รัฐประศาสตร์มหาบัณฑิต สาขารัฐประศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เบญจมาภรณ์ อมรเลิศพานิช. (2551). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการก่อหนี้ของครัวเรือนในภาคเหนือของประเทศไทย. เชียงราย : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย.

วารุณี ศรีชัย. (2555). ปัจจัยที่ก่อให้เกิดหนี้สินเกษตรกร ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน. เชียงใหม่ : คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อิสยาห์พร อินทุวัน. (2555). ปัญหาหนี้สินเกษตรกรในจังหวัดเชียงราย.มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

03-01-2023