การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ศิลปะเพื่อส่งเสริมจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกัน ในบริบทการเรียนรวมระหว่างนักเรียนไทยและนักเรียนข้ามชาติ
คำสำคัญ:
รูปแบบการเรียนรู้ศิลปะ, การเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกัน, จิตสำนึก, นักเรียนข้ามชาติ, การลดอคติบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพ ปัญหา และแนวทางการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างนักเรียนไทยและนักเรียนข้ามชาติในบริบทชั้นเรียนรวม 2) พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ศิลปะเพื่อส่งเสริมจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกัน 3) ศึกษาผลของการใช้รูปแบบการเรียนรู้ศิลปะที่พัฒนาขึ้น โดยใช้แบบแผนการทดลองไขว้สลับแบบวัดซ้ำ (switching replications design) กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนในชั้นเรียนรวมระหว่างนักเรียนไทยและนักเรียนข้ามชาติ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3 จำนวน 41 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง ก 21 คนและกลุ่มทดลอง ข 20 คน
ผลการวิจัยสรุปได้ว่า 1) อุปสรรคในการอยู่ร่วมกันระหว่างนักเรียนไทยและนักเรียนข้ามชาติคือ อคติและการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม 2) หลักการของรูปแบบการเรียนรู้ศิลปะเพื่อส่งเสริมจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกัน หรือ LTTA Model คือ “การใช้กระบวนการเรียนรู้ศิลปะเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้แสดงตัวตน เชื่อมโยงกับผู้อื่น และหันมาร่วมมือกัน” ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบย่อย 5 ข้อ ได้แก่ การแสดงตัวตนผ่านศิลปะ การเปรียบเทียบความเหมือนและต่างระหว่างบุคคล, การจินตนาการความรู้สึกของผู้อื่น การเรียนรู้เรื่องราวของบุคคลและวัฒนธรรม และการร่วมมือโดยมีเป้าหมายร่วมกัน 3) ผลการทดลองใช้รูปแบบ ซึ่งประเมินจากคะแนนแบบวัดจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกัน การสังเกตพฤติกรรม และการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่า คะแนนแบบวัดจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกันหลังเรียนของกลุ่มทดลอง ก สูงกว่าก่อนเรียน และสูงกว่ากลุ่มทดลอง ข อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งคงที่เมื่อวัดซ้ำหลังจบกิจกรรม 4 สัปดาห์ นักเรียนแสดงพฤติกรรมเชิงบวกเพิ่มขึ้น และแสดงมุมมองทางบวกต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคมมากขึ้น