The Development of Mathematics Learning Activities Based on The Constructivist Theory Emphasizing Polya’s Problem Solving Processes on Quadrilaterals for Prathomsuksa 6
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง รูปสี่เหลี่ยม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของนักเรียนทั้งหมด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ ร้อยละ 70 ขึ้นไป และ 3) ศึกษาความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง รูปสี่เหลี่ยม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านห้วยยางสะอาด ตำบลดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 15 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เครื่องมือ
ที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง รูปสี่เหลี่ยม จำนวน 14 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนแบบบันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบท้ายวงจร 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง รูปสี่เหลี่ยม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหา การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และสรุปความเรียง
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา เรื่อง รูปสี่เหลี่ยม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 4 ขั้น ได้แก่ 1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน 2) ขั้นสอน มี 3 ขั้นตอนย่อย ได้แก่ 2.1) ขั้นเผชิญสถานการณ์ปัญหาและแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล ใช้กระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา 4 ขั้นตอน ดังนี้ (1) ขั้นทำความเข้าใจปัญหา (2) ขั้นวางแผนแก้ปัญหา (3) ขั้นดำเนินการตามแผน (4) ขั้นตรวจสอบผล 2.2) ขั้นไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย ใช้กระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา 4 ขั้นตอน 2.3) ขั้นไตร่ตรองระดับกลุ่มใหญ่ 3) ขั้นสรุป 4) ขั้นฝึกทักษะ
2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 73.67 และนักเรียนร้อยละ 73.33 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป
3. ความสามารถในการแก้ปัญหาเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 76.67 โดยมีคะแนนในขั้นทำความเข้าใจปัญหา ขั้นวางแผนแก้ปัญหา ขั้นดำเนินการตามแผน และขั้นตรวจสอบผล เฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 93.33, 73.33, 73.33 และ 70.00 ตามลำดับ