ผลกระทบของการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่ที่มีต่อสมรรถนะของบุคลากรสายสนับสนุน กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
คำสำคัญ:
การบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่, สมรรถนะของบุคลากร, มหาวิทยาลัยราชภัฎในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่ของบุคลากรสายสนับสนุนกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2. เพื่อศึกษาสมรรถนะบุคลากรสายสนับสนุนกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 3. เพื่อทดสอบผลกระทบของการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่ที่มีต่อสมรรถนะบุคลากรสายสนับสนุนกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ โดยมีเครื่องมือในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม มีกลุ่มตัวอย่าง คือ บุคลากรสายสนับสนุนของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 400 คน โดยใช้วิธีคำนวนตามสูตรของทาโร่ ยามาเน่ และกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 11 คน ที่มาจากการเลือกแบบเจาะจง แล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้จากแบบสอบถาม มาวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ประกอบด้วย ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการถดถอยพหุคูณ และจากแบบสัมภาษณ์ เอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มาวิเคราะห์ในเชิงเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า 1) การศึกษาการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่ของบุคลากรสายสนับสนุนกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยภาพรวม 5 ด้าน อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.70 ซึ่งด้านการฝึกอบรม มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดเท่ากับ 3.82 รองลงมาคือด้านการมีส่วนร่วม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.77 และด้านการพัฒนาพนักงานมีค่าเฉลี่ยต่ำสุดเท่ากับ 3.57 2) การศึกษาสมรรถนะบุคลากรสายสนับสนุนกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยภาพรวม 5 ด้าน อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.01 ซึ่งด้านการสื่อสารและการจูงใจมีค่าเฉลี่ยมากที่สุดเท่ากับ 4.07 รองลงมาคือด้านการทำงานให้บรรลุผลสัมฤทธิ์มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.03 และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ ด้านการทำงานเป็นทีม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.96 และ 3) การทดสอบผลกระทบของการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่ที่มีต่อสมรรถนะบุคลากรสายสนับสนุนกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 5 ด้าน มีความสัมพันธ์กันเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยมีความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับมากที่สุด และมีค่าสหสัมพันธ์อยู่ในช่วง 0.675-0.806 ทั้งนี้ทุกด้านมีผลกระทบเชิงบวกต่อสมรรถนะบุคลากรสายสนับสนุนโดยรวม