รูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดนครสวรรค์

Main Article Content

พรรณอร วันทอง

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 4 ประการคือ (1) เพื่อศึกษาสภาพการการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (2) เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันของแต่ละปัจจัยคัดสรรรูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุตามแบบจำลองสมการโครงสร้าง (3) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลตามแบบจำลองสมการโครงสร้างรูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ และ (4) เพื่อนำเสนอรูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครสวรรค์ กลุ่มตัวอย่างการวิจัยนี้ คือ ประชาชนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล จำนวน 384 คน โดยใช้ตารางสำเร็จรูปของเคร็จซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan, 1970 อ้างถึงใน สุทธนู ศรีไสย์, 2551: 132-133) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม และการสนทนากลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าทีแบบ One-sample t-test การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน และ การวิเคราะห์เส้นทางด้วยโปรแกรม LISREL Version 8.72 แบบ Basic Model


ผลการวิจัยพบว่า (1) สภาพการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครสวรรค์ ภาพรวม อยู่ในระดับต่ำ และเมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า มีเพียงด้านเดียวอยู่ในระดับสูง คือ ด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล ส่วนอีก 6 ด้าน คือ ด้านความมั่นคงทางสังคม ครอบครัว ผู้ดูแล และการคุ้มครอง ด้านรายได้ ด้านนันทนาการ ด้านการสร้างบริการและเครือข่ายการเกื้อหนุน ด้านคุณภาพชีวิต และด้านที่พักอาศัย อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมุติฐานของการวิจัยที่ตั้งไว้ (2) องค์ประกอบที่นำมาใช้ในการศึกษาทั้ง 7 ด้าน เป็นองค์ประกอบเชิงยืนยัน 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านที่พักอาศัย 2) ด้านความมั่นคงทางสังคม ครอบครัว ผู้ดูแล และการ 3) ด้านนันทนาการ 4) ด้านการสร้างบริการและเครือข่ายการเกื้อหนุน 5) ด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล 6) ด้านคุณภาพชีวิต และมีเพียง 1 ด้าน ที่ไม่เป็นองค์ประกอบเชิงยืนยัน คือ ด้านรายได้ (3) ความสัมพันธ์เชิงเหตุผลตามแบบจำลองสมการโครงสร้างรูปแบบการจัดการสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นไปตามข้อตกลงทางสถิติ คือ Chi-square = 207.77, df = 1409, P-value = 1.000, RMSEA = 0.000 โดยพบว่า ปัจจัยด้านคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ได้รับอิทธิพลโดยตรง อยู่ในระดับสูง มาจากปัจจัยด้านการสร้างบริการและเครือข่ายการเกื้อหนุน และอยู่ในระดับปานกลาง มาจากปัจจัยด้านความมั่นคงทางสังคม ครอบครัว ผู้ดูแล และการคุ้มครอง และอยู่ในระดับต่ำ มาจากปัจจัยด้านนันทนาการ และได้รับอิทธิพลทางอ้อมมาจาก ปัจจัยด้านที่พักอาศัย ปัจจัยด้านรายได้ ปัจจัยด้านนันทนาการ และปัจจัยด้านความมั่นคงทางสังคม ครอบครัว ผู้ดูแล และการคุ้มครอง อยู่ในระดับต่ำ โดยส่งผ่านปัจจัยด้านนันทนาการ และ/หรือ ปัจจัยด้านการสร้างบริการและเครือข่ายการเกื้อหนุน และพบว่า ปัจจัยทั้งหมดสามารถอธิบายความแปรปรวนหรือทำนายตัวแปรตามคือ ปัจจัยด้านคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุได้ร้อยละ 89.70 ที่ระดับความเชื่อมั่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 และ (4) รูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครสวรรค์ มี 14 ประเด็น

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Articles)