บรรณนิทัศน์: Media and Revolt Strategies and Performances from the 1960s to the Present
Main Article Content
Abstract
“… While it is undoubtedly true that we no longer inhabit a world with clear political divisions between Right and Left and that this has given rise to groups – political parties, movements, civil society organizations – that cannot be easily placed along this continuum, there is nonetheless some evidence that those who protest still find themselves on the outside, often criticized or pilloried.” (p.72)
Ralph Negrine ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารการเมืองแห่ง University of Sheffield เขียนข้อความข้างต้นไว้ท้ายบทหนึ่งของหนังสือ Media and Revolt (2016) ซึ่งรวมบทความวิชาการและบทความวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของสื่อกับการประท้วงในบริบททางการเมืองและสังคมที่หลากหลาย ข้อสรุปดังกล่าวไม่เพียงชี้ให้เห็นพลวัตทางสังคมการเมืองที่ซับซ้อนและผู้เล่นทางการเมืองมากหน้าหลายตา แต่ยังสะท้อนว่า ไม่ว่าสภาพการณ์จะเปลี่ยนไป ปฏิกิริยาที่ผู้คนในสังคมและสื่อมวลชนมีต่อ “ผู้ประท้วง” ก็ยังคงเป็นไปในทางลบเช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม แม้สังคมและสื่อจะยังคงมองว่าการประท้วงอยู่ในเขตแดนของความเบี่ยงเบน (deviance) แต่ประเด็นสำคัญที่หนังสือเล่มนี้พยายามสำรวจและศึกษา คือ สื่อและผู้ประท้วงได้สื่อสารและต่อรองกับการปิดฉลากเช่นนี้อย่างไร โดยย้อนไปศึกษาภาพตัวแทนและปฏิสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับผู้ประท้วงในโลกตะวันตกในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ซึ่งถือเป็นยุคแรกๆ ที่สื่อมวลชนกระแสหลัก โดยเฉพาะโทรทัศน์ เริ่มให้ความสนใจและนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการประท้วง จนถึงปัจจุบันที่สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่สาร สร้างเครือข่าย และระดมพลของผู้ประท้วง หนังสือเล่มนี้จึงแสดงให้เห็นว่า แม้ภาพตัวแทนของการประท้วงจะคงอยู่ในแดนลบ แต่บริบททางสังคมการเมือง รวมทั้งธรรมชาติและพัฒนาการของสื่อในกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาทำให้การสื่อสารเรื่องการประท้วงไม่นิ่งอยู่กับที่ ทว่ามีการขยับเคลื่อนอยู่ตลอด จนกระทั่งก้าวข้ามมาในเขตแดนที่สังคมยอมรับได้ในบางครั้ง
หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกเริ่มด้วยการอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับการประท้วง บทบาทสื่อกับการประท้วง และการใช้ทฤษฎีการสร้างกรอบ (framing theory) เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาสื่อและยุทธศาสตร์การสื่อสารของผู้ประท้วง ซึ่งถือเป็นกรอบแนวคิดและระเบียบวิธีวิจัยหลักของการศึกษาที่ปรากฏในหนังสือ
ส่วนที่ 2 ว่าด้วยการประท้วงในช่วงค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มนักศึกษาทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาวางยุทธศาสตร์ด้านสื่อในการเคลื่อนไหวทั้งเรื่องสิทธิพลเมืองและการต่อต้านสงคราม รวมทั้งใช้สื่อทางเลือกในการกระจายสารของกลุ่ม บทความในส่วนนี้วิเคราะห์ภาพตัวแทนของการประท้วงและกลยุทธ์การสื่อสารของผู้ประท้วงผ่านสื่อที่หลากหลาย ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ และโทรทัศน์ ขณะที่ส่วนที่ 3 ศึกษาการประท้วงของกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ร่วมสมัยขึ้น เช่น กรอบการสื่อสารของกลุ่มอนุรักษ์กรีนพีซในการรณรงค์ต่อต้านการล่าปลาวาฬในนอร์เวย์ เป็นต้น
ส่วนสุดท้ายเป็นการพินิจพิจารณาการประท้วงในยุคดิจิตอล โดยเน้นการเคลื่อนไหวในอินเทอร์เน็ตผ่านกรณีศึกษาที่แตกต่าง เช่น การต่อต้านรัฐบาลเม็กซิกันของกลุ่มซาปาติสต้า (Zapatista) ซึ่งมีรากมาจากกลุ่มปฏิวัติติดอาวุธในอดีต ทว่านักเคลื่อนไหวในปัจจุบันกลับใช้อินเทอร์เน็ตในการนำเสนอจุดยืนของกลุ่มตน แนวทางดังกล่าวไม่เพียงสร้างแนวร่วมในประเทศเท่านั้น แต่ยังสร้างเครือข่ายกับกลุ่มและองค์กรระหว่างประเทศที่ขับเคลื่อนเรื่องการต่อต้านทุนนิยมเสรีใหม่เหมือนกันด้วย หรือการเคลื่อนไหวของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยในนอร์เวย์ผ่านการผลิตและแจกจ่ายดนตรีพังค์ทางอินเทอร์เน็ต ที่ได้รับความร่วมมือจากบรรดาแฮกเกอร์
หนังสือเล่มนี้จึงช่วยอธิบายข้อสังเกตที่ศาสตราจารย์ Negrine ตั้งไว้ว่า สื่อไม่เพียงเป็นผู้สังเกตการณ์หรือสะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เกี่ยวพันอย่างยิ่งกับการสร้างความหมายของการประท้วงให้สาธารณะได้รับรู้ ขณะเดียวกัน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงก็ใช่จะเป็นกลุ่มที่ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อการผลิตสื่อ เพราะพวกเขาก็เรียนรู้ทักษะที่จะขัดเกลาหรือต้านภาพตัวแทนที่ปรากฏผ่านสื่อได้ (p. 59-60)
ทั้งกรณีศึกษา กรอบแนวคิด และวิธีวิจัยที่บทความต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้นำเสนอ จึงน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยและประเทศใกล้เคียง เพื่อทำความเข้าใจกับการประท้วงและการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยมุมมองใหม่ๆ และเสนอแง่มุมจากโลกตะวันออกเพื่อให้แวดวงวิชาการมีองค์ความรู้ที่แข็งแกร่งและหลากหลายยิ่งขึ้น