บรรณนิทัศน์: Practice-as-Research in Performance and Screen

Main Article Content

จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

Abstract

ในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ปฏิบัติการในฐานะการวิจัย หรือ practice-as-research ได้กลายเป็นเป็นวิธิวิทยาการวิจัยที่เป็นที่นิยมและมีความสำคัญยิ่งในแวดวงอุดมศึกษานานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาวิจัยในสาขานิเทศศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งนี้ สมมติฐานเบื้องต้นของปฏิบัติการในฐานะการวิจัยนั้นมีอยู่ว่า “ปฏิบัติการ” มิได้เป็นวิธีนักวิจัย “สร้างสรรค์” สิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีนักวิจัย “คิดวิเคราะห์” ผ่านการลงมือทำงานและความรู้ทางกาย (embodied knowledge) เพื่อทำความเข้าใจในปรากฏการณ์และแสวงหาองค์ความรู้ใหม่เช่นเดียวกับการวิจัยผ่านวิธีวิทยาการวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มีมาแต่ดั้งเดิม  

หนังสือ Practice-as-Research in Performance and Screen ที่มี Ludivine Allegue, Simon Jones, Baz Kershaw และ Angela Piccini เป็นคณะบรรณาธิการ เป็นหนังสือรวมบทความที่พัฒนามาจากโครงการวิจัยระยะเวลา 6 ปี ของมหาวิทยาลัย Warwick ที่ทำการศึกษาภูมิทัศน์ของการใช้ปฏิบัติการในฐานะการวิจัยในสถาบันการศึกษาขั้นสูงของสหราชอาณาจักรและยุโรป และประเด็นทางวิชาการและการศึกษาที่เกิดขึ้นจากนำวิธีวิทยาการวิจัยนี้มาใช้ หนังสือขนาด 260 หน้าเล่มนี้ประกอบด้วย หนังสือที่เป็นรูปเล่ม และแผ่นดีวีดีบันทึกรูปภาพ วีดีโอ และคำอธิบายอย่างย่อของโครงการปฏิบัติการในฐานะวิจัยต่างๆ ที่หนังสือเล่มนี้นำมาวิเคราะห์และอ้างอิงเป็นตัวอย่าง จนถึงปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้อาจเป็นหนังสือที่สามารถให้จุดประกายทางความคิดและให้ภาพในมุมกว้างของปฏิบัติการในฐานะวิจัยได้อย่างครอบคลุมมากที่สุด 

เนื้อหาของตัวหนังสือที่เป็นรูปเล่มอาจแยกอ่านออกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกประกอบด้วยบทความจำนวน 10 ชิ้น ที่เขียนขึ้นโดยนักวิชาการชั้นนำจากภาคพื้นยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ที่มาร่วมกันขบคิดเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิธีวิทยาของปฏิบัติการในฐานะการวิจัย ตั้งแต่ประเด็นด้านพัฒนาการที่สัมพันธ์กับบริบททางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของการศึกษาขั้นสูงในสหราชอาณาจักร ประเด็นด้านญาณวิทยาและภววิทยา (epistemology and ontology) ของความรู้เชิงปฏิบัติการและความรู้ทางกาย  ไปจนถึงประเด็นเกี่ยวกับนำเสนอและประเมินผลงานวิจัย ส่วนที่สอง ประกอบด้วยตัวอย่างของงานวิจัยและบทคัดย่อของโครงการที่ประสบความสำเร็จ ที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เริ่มตั้งต้นใช้วิธีวิทยาการรูปแบบนี้ในการวิจัย 

ในบทนำของหนังสือ Baz Kershaw ได้ให้ภาพรวมของพัฒนาการของปฏิบัติการในฐานะวิจัยในสถาบันการศึกษาขั้นสูงของสหราชอาณาจักร โดยเชื่อมโยงกับประสบการณ์ความขัดแย้งทางความคิดของตนเองที่มีมาตลอดชีวิตการทำงานกว่า 40 ปีในมหาวิทยาลัย ระหว่างการทำงานในฐานะนักวิชาการที่มีหน้าที่ในการรวบรวมสังเคราะห์ความรู้อย่างเป็นระบบ กับการทำงานในฐานะศิลปินที่มีวิถีชีวิตอยู่กับการลงมือปฏิบัติและการใช้ญาณหยั่งรู้ ซึ่งผู้อ่านที่ทำงานอยู่ในสถาบันการศึกษาของไทยที่มีประสบการณ์มาทางสายปฏิบัติและสร้างสรรค์ก็คงจะสามารถเชื่อมโยงด้วยได้ไม่ยากนัก ต่างกันก็เพียงแต่ว่า ในปัจจุบัน สถาบันการศึกษาและผู้ให้ทุนวิจัยในสหราชอาณาจักรมองว่าการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ผ่านปฏิบัติการเป็นการบุกเบิกความรู้ใหม่ๆ และนำความหลากหลายมาสู่วงวิชาการ ในขณะที่สถาบันการศึกษาของไทยอาจจะยังมองวิธีวิทยาการวิจัยดังกล่าวอย่างเคลือบแคลงอยู่  คำถามสำคัญที่ Kershaw ถามผู้อ่านคือคำถามที่ว่า เราจะหาจุดบรรจบที่เหมาะสมระหว่างการมองปรากฏการณ์จากภายนอกด้วยสายตานักวิชาการ กับการหยั่งรู้ของนักปฏิบัติและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างกระบวนการทำงานสร้างสรรค์ได้อย่างไร

Simon Jones, Angela Piccini และ Caroline Rye พยายามตอบคำถามดังกล่าวด้วยการวิเคราะห์จากมุมองเชิงญาณวิทยาและเชิงภววิทยา Simon Jones ให้ความสนใจกับประเด็นว่า อะไรคือความรู้? และเรารู้ในสิ่งที่เรารู้ได้อย่างไร? Jones พาผู้อ่านท่องไปในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ว่าด้วยความรู้ในโลกตะวันตก จากความรู้เชิงปฏิฐานนิยมมาสู่ความรู้เชิงสัมพัทธภาพและการสะท้อนความคิดของนักวิจัย Jones พยายามที่จะมองการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ดังกล่าวอย่างเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการศึกษาในโลกตะวันตก โดยมองว่าปฏิบัติการในฐานะการวิจัยเป็นวิธีวิทยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับโลกแห่งความรู้ที่กำลังเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ Angel Piccini และ Caroline Rye ให้ความสนใจกับประเด็นที่ว่านักวิจัยจะสามารถนำเสนอความรู้ที่ได้มาจากปฏิบัติการอย่างไรได้บ้าง Piccini และ Rye มองว่าการเขียนรายงานวิจัยแบบดั้งเดิมนั้นเป็นความพยายามของนักวิจัยในการบันทึกความรู้ให้อยู่ในรูปของสิ่งที่จับต้องได้และมีสภาพที่คงที่ ซึ่งขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงของความรู้ที่เลื่อนไหลและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รายงานวิจัยแบบดั้งเดิมจึงไม่ใช่เป็นตัวความรู้แต่มีสถานะเป็นเพียงแค่ตัวแทนของความรู้เท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าว รายงานการวิจัยจึงไม่ได้เป็นรูปแบบของการนำเสนอความรู้เพียงรูปแบบเดียวที่นักวิจัยทุกคนจะต้องยึดถือเป็นสรณะ เป็นได้ที่นักวิจัยอาจจะมองเห็นวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสมกว่าสำหรับบันทึกและนำเสนอความรู้ของตนสู่สาธารณะและวงวิชาการ เช่น ภาพถ่าย สารคดี นิทรรศการและงานแสดง หรือ Digital Archive ที่ Barry Smith ได้วิเคราะห์นำเสนอไว้ในบทที่ 5 ของหนังสือเล่มเดียวกันนี้ 

ประเด็นที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกับการนำเสนอผลงานวิจัย ก็คือกระบวนการประเมินผลงานโดยเพื่อนร่วมสาขาวิชา (peer review) ในบทที่ 6 ซึ่งอยู่ในรูปของบทสนทนาอย่างบทความวิชาการสมัยกรีกโบราณ John Adams, Jane Bacon และ Lizzie Thyne ได้ถกเถียงกันเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไว้อย่างละเอียด ทั้งในเรื่องของกระบวนการ และองค์ประกอบการประเมิน นักวิชาการทั้ง 3 ท่านต่างเห็นพ้องว่ากระบวนการประเมินผลงานโดยเพื่อนร่วมสาขาวิชานั่นเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้ แต่ผู้ที่จะมาประเมินผลงานนั้นจำเป็นต้องเป็นผู้ที่อยู่ในประชาคมนักวิจัย-นักปฏิบัติ  ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกที่ไม่เข้าใจทั้งการทำงานปฏิบัติและผลงานสร้างสรรค์ ทั้งสามคนมองว่า ผู้ประเมินผลงานควรจะมีโอกาสได้สัมผัสกับผลงานที่จะประเมินในบริบทจริง ไม่ใช่ประเมินจากเอกสารหรือบันทึกการนำเสนอที่เป็นภาพถ่ายหรือวิดีทัศน์เท่านั้น ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าความรู้ที่ได้จากปฏิบัติการเป็นความรู้ทางกายที่จะมีความหมายในบริบทที่มันเกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งในประเด็นเดียวกันนี้ Robin Nelson ได้ให้รายละเอียดเชิงทฤษฎีสนับสนุนไว้อย่างพิศดารในบทที่ 7 ที่ว่าด้วย “ที่ทาง” ของความรู้เชิงปฏิบัติการในวงวิชาการและสถาบันการศึกษา

สำหรับผู้อ่านที่คาดหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นตำราที่สอนผู้อ่านตรงๆ ว่าการทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการนั้นีขั้นตอนอย่างไรก็คงจะต้องผิดหวัง เพราะหนังสือเล่มนี้เน้นในการนำเสนอข้อถกเถียงเชิงทฤษฎีพื้นฐานและจุดประกายทางความคิดเกี่ยวกับวิทยาการวิจัยเสียมากกว่า บทความอื่นๆ ในหนังสือเล่มนี้ที่ผู้เขียนบทบรรณนิทัศน์ยังไม่ได้กล่าวถึง ล้วนมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้อ่านที่สนใจใคร่ทำความรู้จักกับวิธีวิทยาการวิจัยที่กำลังมีความสำคัญมากขึ้นในช่วงเวลาที่สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจใหม่ ที่การสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรมได้กลายมาเป็นเป้าหมายสำคัญของการศึกษาและการวิจัย

Article Details

Section
Articles