บรรณนิทัศน์: The Civic Organization and the Digital Citizen: Communicating Engagement in a Networked Age (2015)

Main Article Content

พรรษาสิริ กุหลาบ

Abstract

การเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมของประชาชนทั้งในไทยและต่างประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่เพียงสะท้อนการตื่นตัวและตระหนักถึงสิทธิของพลเมืองในการปกป้องและเรียกร้องให้สังคมเป็นไปอย่างที่คาดหวัง จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมในรูปแบบต่างๆ แต่ยังเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหว หรือในบางกรณี เป็นแกนนำในการขับเคลื่อน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนหนุ่มสาวเข้ามาแสดงบทบาทได้ชัดเจนมากขึ้น คือสื่อออนไลน์ 

หนังสือ The Civic Organization and the Digital Citizen: Communicating Engagement in a Networked Age (2015) เล่มนี้ นำเสนอผลการวิจัยของผู้เขียนซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ซึ่งศึกษาว่าท่ามกลางสภาพการณ์ทางการเมืองและสังคม ความสนใจของเยาวชนต่อประเด็นทางการเมืองและสังคม รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้สื่อและการแสดงออกทางอัตลักษณ์ของเยาวชน องค์กรภาคประชาสังคมจะสื่อสารและสร้างการมีส่วนร่วมกับเยาวชนในเรื่องที่ต้องการขับเคลื่อนได้อย่างไร

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือการผสานมุมมองทางสังคมศาสตร์ การสื่อสารการเมือง และสื่อใหม่ศึกษา เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นพลเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองกับสารสนเทศได้อย่างน่าสนใจ ทำให้การวิเคราะห์ไม่ยึดโยงอยู่กับมุมมองแบบสื่อเป็นศูนย์กลาง โดยคำนึงถึงบริบททางการเมือง สังคม และพฤติกรรมของสถาบันและผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

ผู้เขียนได้อธิบายแนวทางการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสารสนเทศ สื่อใหม่ กับการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไว้ในบทที่ 1 ถึง 3 โดยเสนอแนวคิด สารสนเทศเกี่ยวกับความเป็นพลเมือง (civic information) อันหมายถึง “...การไหลเวียนอย่างต่อเนื่องของข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริง ความเห็น และความคิด ที่ช่วยให้พลเมืองเข้าใจเหตุการณ์หรือประเด็นที่สังคมแสดงความกังวล รวมทั้งสามารถระบุโอกาสในการปฏิบัติการได้” (หน้า 7) ผู้เขียนชี้ว่า ในยุคสังคมสารสนเทศ การสร้างสารสนเทศเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสถาบันทางการเมืองหรือสถาบันสื่อ แต่ประชาชนและภาคประชาสังคมก็สามารถผลิตข้อมูลข่าวสารเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในบทบาทของพลเมืองได้เช่นกัน

ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ องค์กรภาคประชาสังคมจึงมีบทบาทเป็นแหล่งข้อมูลเชิงวิเคราะห์และตีความให้กับพลเมืองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารมีความกระจัดกระจาย นอกจากนี้ การที่ปัจเจกบุคคลเลือกติดตามกับองค์กรภาคประชาสังคมทางออนไลน์เพื่อเป็นช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสารยังทำให้เส้นแบ่งระหว่างการบริโภคกับการมีส่วนร่วมของพลเมืองพร่าเลือนลงด้วย (หน้า 24)

แม้เยาวชนจะถูกมองว่าไม่ใส่ใจหรือตัดขาดจากการเมืองหรือปัญหาสังคม แต่ผู้เขียนชี้ว่า คนหนุ่มสาวก็ยังสนใจประเด็นเหล่านี้ แต่การ “ตัดขาด” (disconnect) อาจเกิดขึ้นเพราะเยาวชนกับสถาบันทางประชาธิปไตยที่น่าจะดึงดูดความสนใจของพวกเขาได้ กลับพูดเรื่องชีวิตและการสื่อสารด้านพลเมืองกันคนละภาษา (หน้า 5) ผลการศึกษาพบว่า เยาวชนไม่นิยมแสดงออกทางความคิดหรือมีส่วนร่วมในเชิงโครงสร้าง แต่เน้นการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ รวมทั้งมักสื่อสารระหว่างเยาวชนด้วยกันเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้เข้าใจบทบาทและใช้อำนาจของการสื่อสารพอควร (หน้า 47-48)

ธรรมชาติเช่นนี้ส่งผลให้รูปแบบสารสนเทศเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองของเยาวชนมุ่งไปที่การปฏิบัติการจริง โดยเลือกแหล่งข้อมูลที่แตกต่างและหลากหลาย เน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับข้อมูล เช่น ผลิต หรือส่งต่อ ตีความข้อมูลตามความสนใจและเครือข่ายที่เชื่อถือได้ และประเมินว่าจะเชื่อข้อมูลได้หรือไม่โดยพิจารณาความเกี่ยวข้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูล ทั้งยังไม่เน้นกิจกรรมแบบทางการ แต่เป็นการแสดงออกโดยสื่อสารผ่านเครือข่ายสาธารณะ ต่างจากรูปแบบสารสนเทศเกี่ยวกับพลเมืองแบบเก่าที่เน้นการสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบต่อหน้าที่พลเมือง โดยเลือกรับข้อมูลข่าวสารจากผู้เชี่ยวชาญ ตีความข้อมูลโดยขึ้นอยู่กับกลุ่มทางสังคมและแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการ และเมื่อมีปฏิบัติการ ก็จะมุ่งเป้าไปที่กิจกรรมที่เป็นทางการ (หน้า 51)

ผู้เขียนจึงเสนอแนะว่า ความเข้าใจแนวโน้มรูปแบบสารสนเทศของเยาวชนมีผลต่อการสื่อสารขององค์กรภาคประชาสังคมกับผู้สนับสนุนผ่านทางสื่อออนไลน์ โดยแทนที่องค์กรภาคประชาสังคมจะเน้นการนำเสนอข่าวสารกิจกรรมของกลุ่ม หรือลิงค์ไปยังข้อมูลที่ผู้สนับสนุนควรทราบเพื่อกระตุ้นให้เกิดปฏิบัติการบางอย่างตามแนวทางของสารสนเทศเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองแบบเก่า องค์กรภาคประชาสังคมสามารถปรับให้ข้อมูลมีความน่าสนใจและดึงดูดให้ผู้สนับสนุนแบ่งปันข้อมูล ความรู้ หรือความคิดเห็น หรือเปิดรับฟังเสียงสะท้อน เพื่อให้ผู้ติดตามส่งต่อความคิดที่จะปฏิบัติการใดๆ ได้ (หน้า 99) แนวทางนี้ยังเหมาะสำหรับองค์กรภาคประชาสังคมที่เกิดใหม่และเน้นการขับเคลื่อนทางโลกออนไลน์ ต่างจากองค์กรดั้งเดิมที่เน้นปฏิบัติการในโลกออฟไลน์ (หน้า 124)

ผลการวิจัยที่ผู้เขียนนำมาสนับสนุนข้อโต้แย้งอยู่ในบทที่ 4 ซึ่งว่าด้วยการสื่อสารขององค์กรภาคประชาสังคมทางเว็บไซต์ และบทที่ 5 ซึ่งเจาะจงไปที่การสื่อสารทางเฟซบุ๊ก จากองค์กรกรณีศึกษาหลากหลายประเภทและขับเคลื่อนประเด็นที่ต่างกันไป ผลการศึกษาแสดงให้เห็นแนวโน้มการกระตุ้นให้เกิดปฏิบัติการผ่านการสื่อสารและแสดงออกทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเหมาะกับรูปแบบสารสนเทศเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองแบบใหม่ของกลุ่มเยาวชน ทั้งยังพบว่าการเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนแบ่งปันข้อมูลและแสดงอัตลักษณ์ของตนทางเฟซบุ๊กเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองและสังคมที่องค์กรต้องการได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยก็ยังพบว่า หลายองค์กรก็ยังลังเลที่จะเปิดพื้นที่ให้ผู้สนับสนุนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและทิศทางการทำงานขององค์กรอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มองค์กรที่ยังต้องทำงานในบริบทการเมืองที่เป็นทางการอยู่ 

หนังสือเล่มนี้อาจไม่ได้นำเสนอข้อค้นพบที่แปลกใหม่พลิกโฉมการสื่อสารทางการเมืองนัก แต่การเจาะไปที่การสื่อสารขององค์กรภาคประชาสังคมและการมีส่วนร่วมของเยาวชน น่าจะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังนำเสนอกรอบคิดแบบสหวิทยาการให้กับผู้สนใจจะศึกษาวิจัยต่อ รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมได้

Article Details

Section
Articles