From “Zomia” to “One Belt One Road” and “Indo-Pacific”: The New Geographic Adjustment of Asia
Keywords:
เอเชีย โซเมีย อี้ไต้ อี้ลู่ (หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง) อินโด-แปซิฟิก การปรับรูปภูมิศาสตร์ อาณาบริเวณ ภูมิภาค และ ภูมิศาสตร์ภูมิภาคAbstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับโครงสร้างขอบเขตและรูปทรงภูมิศาสตร์ของทวีปเอเชียที่เริ่มแปรเปลี่ยนไปตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 จนถึงปัจจุบัน ด้วยการใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพผ่านการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงเอกสารโดยใช้แนวคิดภูมิศาสตร์ภูมิภาค (Regional Geography) มาเป็นกรอบวิเคราะห์หลัก ผลการวิจัยพบว่า การปรับรูปภูมิศาสตร์ใหม่เอเชียถูกขับเคลื่อนด้วยแนวคิดหรือโครงการริเริ่มใหม่ๆอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ 1. “โซเมีย (Zomia)” ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมบริเวณที่สูงและเทือกเขาในเอเชียจนส่งผลให้เกิดการมองพื้นที่ใหม่ที่ไล่เรียงไปตามแนวเทือกเขาฮินดูกูช-หิมาลัยและมวลเขาสูงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ใหม่นี้ได้ตัดข้ามทะลุเขตแบ่งระหว่างเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนทำให้ย่านมวลเขาสูงพื้นทวีปกลายเป็นอาณาบริเวณศึกษาใหม่ของเอเชีย 2. “อี้ไต้ อี้ลู่ (หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt One Road)” ที่จีนได้ก่อสร้างขยายเส้นทางคมนาคมขนส่งทั่วเอเชียและโยงเอเชียกับยุโรปและแอฟริกาเข้าด้วยกัน การพัฒนาเฉลียงขนส่งทางบกใต้โครงการนี้ส่งผลให้เกิดภูมิภาคแยกย่อยที่มีลักษณะเคลื่อนตัวไปตามเส้นทางโลจิสติกส์ในเอเชีย และ 3. “อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific)” ซึ่งเป็นหน่วยอาณาบริเวณที่กุมทั้งเขตมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก และมีขนาดใหญ่โตกว่าเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีลักษณะแผ่คลุมเอเชียตะวันออก เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมดินแดนข้างเคียงอย่างออสเตรเลีย โอเชียเนียและทวีปอเมริกา ตลอดจนถูกขับเคลื่อนผ่านความร่วมมือยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดียและญี่ปุ่น ดังนั้น การก่อรูปของ "โซเมีย" "อี้ไต้ อี้ลู่" และ "อินโด-แปซิฟิก” จึงถือเป็นการปรับรูปภูมิศาสตร์ใหม่ที่ก่อกระทบต่อโครงสร้างขอบเขตภูมิศาสตร์เอเชียในศตวรรษที่ 21