การพัฒนารูปแบบเครื่องแต่งกายสตรีด้วยผ้าฝ้ายย้อมครามของแบรนด์ ภูคราม อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร

Main Article Content

ปรุฬห์ลภย์ พฤกษ์โสภี

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบเครื่องแต่งกายสตรีด้วยผ้าฝ้ายย้อมครามของแบรนด์ ภูคราม อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร และศึกษาความพึงพอใจของกลุ่มผู้บริโภคต่อการเลือกซื้อเครื่องแต่งกายสตรีในรูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายย้อมครามแบรนด์ภูคราม อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ได้แก่ สมาชิกของกลุ่ม จำนวน 50 คน ผู้เชี่ยวชาญ 2 คน นักวิจัย 1 คน  และกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักท่องเที่ยวหรือลูกค้า จำนวน 100 คน โดยใช้กระวนการวิจัยแบบ R&D (Research and Development) ผู้วิจัยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น การใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึกและแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
          ผลการวิจัยพบว่า
          1. ข้อมูลทั่วไปของเครื่องแต่งกายด้วยผ้าฝ้ายย้อมครามของแบรนด์ ภูคราม พบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายส่วนใหญ่เป็นเครื่องแต่งกายสตรี เน้นหนักไปที่เครื่องแต่งกายส่วนบน เช่น เสื้อลำลองสตรี เสื้อคลุม ชุดเครสสั้นและยาว ผ้าคลุมไหล่ และผ้าพันคอ เครื่องแต่งกายส่วนล่าง จะเน้นที่กางเกงทรงหลวม และกระโปรง การปักผ้ามีเอกลักษณ์ คือ การปักลวดลายทั้งสองด้านเหมือนกัน วัสดุที่นำมาเป็นเส้นด้ายฝ้ายปัก โดยย้อมสีจากธรรมชาติ
          2. ผู้วิจัยได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบเครื่องแต่งกายสตรีด้วยผ้าฝ้ายย้อมครามของแบรนด์ ภูคราม ด้วยการอบรม 2 หลักสูตร ดังนี้
             2.1 การออกแบบลาดลายการปักผ้า ตามหลักทฤษฎีศิลปะขั้นพื้นฐาน เริ่มจากการดูผลงานการปักผ้าของช่างปักชาวบ้านเป็นรายบุคคล เพื่อสังเกตข้อผิดพลาดบนผลงานที่เกิดขึ้น นำไปสู่การเรียนรู้องค์ประกอบทางศิลปะ การคิดและกำหนด การเลือกสีไหมปักในการปักผ้า เกิดการสร้างสรรค์เรื่องราวจากจินตนาการของช่างปักให้กับผลงาน ความกล้าแสดงออกทางความคิด การกล้าสร้างสรรค์ผลงานให้แตกต่างไปจากแบบดั้งเดิม เพื่อให้ได้วิธีการปักแบบใหม่มาผสมผสานกับการปักแบบดั้งเดิมของผลิตภัณฑ์ แบรนด์ภูคราม
               2.2 การอบรมการสร้างแม่แบบตัดเย็บเครื่องแต่งกายสตรี จำนวน 8 แบบ โดยเน้นเครื่องแต่งกายท่อนบนเป็นหลัก เพื่อให้กลุ่มตัวอย่างสามารถขยายไซส์เพิ่มจากแพตเทิร์นเดิม การกำหนดรูปทรงตัวเสื้อ ปรับความเหมาะสมความยาวแพตเทิร์นเสื้อ การกำหนดหัวแขนสูงของแขนเสื้อให้เหมาะสมกับรูปทรงตัวแพตเทิร์นเสื้อ เป็นต้น เพื่อการนำไปพัฒนาต่อยอดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รวมไปถึงการเสนอเทคนิคการตัดเย็บที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงานของแบรนด์ เช่น การใช้ผ้าที่มีความบาง ในการทำถุงกระเป๋าเสื้อและถุงกระเป๋ากางเกง การถักตะขอเสื้อ เป็นต้น
          3. ระดับความพึงพอใจของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายย้อมครามของแบรนด์ภูคราม พบว่า โดยภาพรวมกลุ่มตัวอย่างลูกค้ามีความพึงพอใจมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย พบว่า 1) ลูกค้ามีความพึงพอใจต่อเครื่องแต่งกายสตรีด้วยผ้าฝ้ายย้อมครามของแบรนด์ ภูคราม ที่ยังอยู่ในกระแสนิยม มากที่สุด รองลงมาคือ 2) ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นแสดงถึงเอกลักษณ์ของการใช้ผ้าและสีจากธรรมชาติในชุมชน 3) ผลิตภัณฑ์มีการตัดเย็บเรียบร้อย ประณีต สวยงาม 4) ผลิตภัณฑ์มีการจัดองค์ประกอบของลวดลายปักได้เหมาะสม 5) ผลิตภัณฑ์สวมใส่ได้ง่ายและมีความทนทาน 6) ผลิตภัณฑ์สามารถหาซื้อได้จากช่องทางออนไลน์ได้ง่าย 7) ผลิตภัณฑ์ประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายโอกาส และ 8) ผลิตภัณฑ์มีให้เลือกหลากหลายราคาและราคาจับต้องได้ ตามลำดับ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมทรัพย์สินทางปัญญา. (2558). การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร ทะเบียนเลขที่ สช 58100068. https://www.ipthailand.go.th/images/781/GI_Registation_ 581000 68 _1.pdf

กระทรวงอุตสาหกรรม. (2559). ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579). https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2017/20171207-MinistryofIndustry.pdf

กัลยา วานิชย์บัญชา. (2552). สถิติสำหรับงานวิจัย. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพมหานคร: ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จุรีวรรณ จันพลา, วลี สงสุวงค์, เพ็ญสินี กิจค้า และสุรีรัตน์ วงศ์สมิง. (2559). การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทยทรงดำเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์. วารสาร Veridian E Journal สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ. 9 (2), 82-98.

นันทกาญจน์ เกิดมาลัย เมธาวี ยีมิน และกาญจนาภรณ์ นิลจินดา. (2563). การพัฒนาและการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ผ้าครามสู่ฮิญาบผ้าครามเพื่อเข้าสู่มาตรฐานฮาลาลในเชิงพาณิชย์. วารสารชุมชนวิจัย. 15 (1), 153-164.

พนารัตน์ เดชกุลทอง. (2552). การวิจัยและพัฒนากระบวนการทอผ้าพื้นบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง: กรณีศึกษาในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. ดุษฎีนิพนธ์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย.

พรชัย ปานทุ่ง. (2564). กระบวนการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายย้อมคราม กลุ่มหัตถกรรมผ้าทอบ้านนาเมือง จังหวัดพิษณุโลก ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 15 (2), 531-546.

เพชรประกาย กุลตังวัฒนา และ วรวิทย์ กุลตังวัฒนา. (2564). การวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การพัฒนาผ้าคราม จังหวัดสกลนคร. วารสารวิชาการสังคมศาสตร์เครือข่ายวิจัยประชาชื่น. 3 (2), 43- 61.

รังสิมา ชลคุป และคณะ. (2560). โครงการปรับปรุง/พัฒนาผลิตภัณฑ์ออกแบบผลิตภัณฑ์ย้อมครามและพัฒนากระบวนการผลิต วางแผนการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามจังหวัดสกลนคร. กรงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

สำนักงานจังหวัดสกลนคร. (2562). แผนพัฒนาจังหวัดสกลนคร 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) ฉบับทบทวนปี พ.ศ. 2564. ออนไลน์. สืบค้นจาก http://www.sakonnakhon.go.th/officeprovince/plan/plan/ plan.php.

สำนักงานจังหวัดสกลนคร. (2565). แผนพัฒนาจังหวัดสกลนคร 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ฉบับทบทวนปี พ.ศ. 2567. ออนไลน์. สืบค้นจาก https://sakonnakhon.go.th/2020/?page_id=3346

อนุรัตน์ สายทอง . (2550). การศึกษาและพัฒนาสีย้อมจากคราม. สกลนคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.

อนุรัตน์ สายทอง และภูวดล ศรีธเรศ. (2558) รูปแบบของผ้าย้อมครามและกระบวนการย้อมผ้าด้วยสีครามของผู้ไทในประเทศไทย สปป.ลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม. วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ). 17 (1), 136-143.

Madsen, D.O. (2016). SWOT Analysis: A Management Fashion Perspective. International Journal of Business Research. 16 (1), 39-56.

Szwarc, P. (2005). Researching Customer Satisfaction and Loyalty: How to Find Out What People Really Think. London: Kogan Page Publishers.