การพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นครูยุคใหม่ด้วยกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
คำสำคัญ:
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ, รูปแบบการเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นครูยุคใหม่บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักศึกษาครู คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ 2) สร้างรูปแบบการเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นครูยุคใหม่ด้วยกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 3) ประเมินผลการใช้รูปแบบโดยทดลองใช้กับกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม 4) วัดความพึงพอใจของนักศึกษาครูที่มีต่อการใช้รูปแบบฯ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักศึกษาครู สาขาการศึกษาปฐมวัย จำนวน 398 คน จาก 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏจาก 5 ภูมิภาค การวิจัยมี 2 ระยะ ระยะที่ 1 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 340 คน โดยสุ่มแบบแบ่งชั้น ระยะที่ 2 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 58 คน โดยเลือกแบบเจาะจง กลุ่มทดลอง 28 คน และกลุ่มควบคุม 30 คน เครื่องมือวิจัย ได้แก่ แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และแบบวัดความพึงพอใจที่มีต่อการใช้รูปแบบฯ สถิติที่ใช้ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานด้วยการทดสอบค่าทีทั้งสองแบบ และ F-test (one-way ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า (1) ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณโดยรวมของนักศึกษาครู มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ร้อยละ 62.38 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 70 (2) รูปแบบฯ มี 3 ส่วน ได้แก่ 1) กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นครูยุคใหม่ 2) กิจกรรมการเสริมสร้างการคิดอย่างมีวิจารณญาณ มี 2 ขั้นตอน คือ ขั้นการเตรียมความพร้อม และขั้นการเสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และ 3) ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ผลประเมินการใช้รูปแบบฯ (1) คะแนนเฉลี่ยการคิดอย่างมีวิจารณญาณของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (2) ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการใช้รูปแบบฯ พบว่า กลุ่มทดลองมีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ( 3.41)