การพัฒนาเครื่องมือประเมินและระบบคุณภาพการตัดสินผลการประกวดบรรเลงรวมวงมโหรี
คำสำคัญ:
วงมโหรี, การประกวดบรรเลงรวมวงมโหรี, เครื่องมือประเมินผล, ระบบคุณภาพการตัดสินผลบทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การพัฒนาเครื่องมือประเมินและระบบคุณภาพการตัดสินผลการประกวดบรรเลงรวมวงมโหรี มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) ศึกษาและวิเคราะห์เกณฑ์และเครื่องมือการประเมินผลการประกวดดนตรีไทยรางวัลพระราชทานทั่วประเทศ 2) ศึกษาและวิเคราะห์กรอบแนวคิดสำคัญของการกำหนดเกณฑ์การพิจารณาการขับร้องและการบรรเลงรวมวงมโหรี 3) พัฒนาเครื่องมือและระบบคุณภาพการตัดสินการประกวดบรรเลงรวมวงมโหรี
ผลการวิจัย พบว่า 1) เกณฑ์การประกวดมี 3 ด้าน ได้แก่ เกณฑ์ระบุจำแนกชนิดของการประกวด เกณฑ์กำหนดคุณสมบัติผู้เข้าประกวด และเกณฑ์กำหนดการให้คะแนน/ตัดสิน ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการให้คะแนน มีระบบการให้คะแนนดิบเป็นตัวตั้งนำไปรวมหารเฉลี่ยตามจำนวนคณะกรรมการ 2) การประกวดขับร้องและบรรเลงรวมวงมโหรีมี 2 ลักษณะ 3) เครื่องมือประเมิน ประกอบไปด้วยการประเมินทักษะส่วนบุคคล และการประเมินทักษะการบรรเลงรวมวงดนตรี ทั้งนี้ ด้านคุณภาพของเกณฑ์การประเมินระหว่างผู้ประเมิน พบค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค (Cronbach's alpha coefficients) และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ภายในกลุ่ม (Intraclass correlation coefficient) มีค่าเท่ากับ .929 และ .853 ตามลำดับ ส่วนระบบการตัดสินผลการบรรเลงรวมวง มี 10 มิติด้วยกัน คือ (1) การกำหนดวัตถุประสงค์ในการประกวด (2) การกำหนดระยะเวลาในการประกวด (3) การกำหนดเกณฑ์ในการประกวด (4) การกำหนดขั้นตอนในการประกวด (5) การอบรมสัมมนากรรมการตัดสินการประกวด (6) การให้ความสำคัญในการใช้เครื่องมือในการให้คะแนน และการคิดคะแนน (7) การประชุมตัดสินผลการประกวด (8) การให้ข้อเสนอแนะในการประกวด (9) การประชุมสรุปประเมินการดำเนินงานการประกวด และ (10) การถอดบทเรียนความสำเร็จและ/หรือต้องทบทวน