การใช้การเสริมต่อการเรียนรู้โดยเพื่อนในการเพิ่มการเรียนรู้ของนิสิตวิชาการประเมินจิตศึกษาขั้นนำ
คำสำคัญ:
การเสริมต่อการเรียนรู้โดยเพื่อน, ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนบทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การวิจัยในชั้นเรียนนี้ มีเป้าหมายเพื่อศึกษาผลของกิจกรรมการเสริมต่อการเรียนรู้โดยเพื่อนที่มีต่อการเกิดการเรียนรู้ของนิสิตในวิชาการประเมินจิตศึกษาขั้นนำ กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตที่ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2557 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 16 คน
นิสิตถูกจับคู่ระหว่างคนที่มีความรู้ความสามารถมากกว่ากับคนที่มีความรู้ความสามารถน้อยกว่า และเป็นคนที่นิสิตเลือกที่จะทำงานด้วย จำนวน 8 คู่ นิสิตทุกคนจะจัดทำรายงานความก้าวหน้าเพื่อวิเคราะห์เพื่อน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ โปรแกรมกิจกรรมการเสริมต่อการเรียนรู้โดยเพื่อน แบบทดสอบความรู้พื้นฐานด้านการประเมินเชิงจิตวิทยาซึ่งใช้ในการทดสอบก่อนและหลังการทดลอง แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์พฤติกรรมการเสริมต่อการเรียนรู้และความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) และการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า 1) นิสิตทุกคนมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาประเมินจิตศึกษาขั้นนำ มากกว่าร้อยละ 70 ขึ้นไป 2) คะแนนเฉลี่ยจากผลการทดสอบหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (t = 6.84, df =15, Effect size = 2.02) 3) นิสิตมีพฤติกรรมการเสริมต่อการเรียนรู้โดยเพื่อนในระดับปานกลาง (Mean =3.25, SD=.44) และมีความพึงพอใจในวิธีเรียนในระดับปานกลาง (Mean = 3.44, SD=.89) 4) พฤติกรรมการเสริมต่อการเรียนรู้โดยเพื่อนที่นิสิตมักใช้ คือ การทำแบบฝึกหัด การเขียนโน้ต และการติว 5) นิสิตเห็นว่าควรจัดคู่ระหว่างเพื่อนที่สนิทที่สุดและเรียนวิชาเอกเดียวกันและการรายงานความก้าวหน้าควรจัดให้บ่อยครั้งขึ้น