การวิเคราะห์องค์ประกอบความพึงพอใจเกี่ยวกับคุณภาพการบริการในระดับอุดมศึกษา กรณีศึกษา คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
บทคัดย่อ
การเพิ่มขึ้นของคณะและสาขาวิชาในสถาบันอุดมศึกษามีเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน นำมาซึ่ง การแข่งขันอย่างรุนแรงในธุรกิจการศึกษาจึงทำให้คุณภาพการบริการของมหาวิทยาลัยมีความสำคัญมากที่จะทำให้นักเรียนตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาตัวบ่งชี้และองค์ประกอบความพึงพอใจของนักศึกษาเกี่ยวกับคุณภาพการบริการในระดับอุดมศึกษา 2. ตรวจสอบความกลมกลืนของตัวบ่งชี้และวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันความพึงพอใจของนักศึกษาเกี่ยวกับคุณภาพ การบริการของในระดับอุดมศึกษาเชิงทฤษฎีกับข้อมูลเชิงประจักษ์ กลุ่มตัวอย่างคือนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2/2559 คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 531 คน จาก 7 สาขา เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่มีความเที่ยงเท่ากับ 0.93 ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ 32 ข้อคำถาม สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลคือ สถิติเชิงบรรยายและการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับที่สองด้วยโปรแกรม MPLUS ผลการวิจัย พบว่า โมเดลองค์ประกอบคุณภาพการบริการของคณะบริหารศาสตร์เชิงทฤษฏีสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (c2 = 822.993, df = 445) โดยทุกองค์ประกอบของคุณภาพการบริการของ คณะบริหารศาสตร์มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 นั่นคือทุกข้อคำถามทั้ง 6 องค์ประกอบมีความเที่ยงสูงถึงสูงมาก เมื่อเรียงลำดับคุณภาพการบริการตามน้ำหนักองค์ประกอบจากมากไปน้อยได้ดังนี้ 1) คุณภาพบริการด้านการจัดการเรียนการสอน 2) คุณภาพบริการด้านการวัดและประเมินผล 3) คุณภาพบริการด้านการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานวิชาชีพ 4) คุณภาพบริการด้านเนื้อหาในหลักสูตร 5) คุณภาพบริการด้านคุณภาพของอาจารย์ผู้สอน และ 6) คุณภาพบริการด้านอาจารย์ที่ปรึกษา ดังนั้น คุณภาพการบริการด้านอาจารย์ที่ปรึกษา จึงเป็นด้านที่นักศึกษาต้องการให้มีการปรับปรุงคุณภาพการบริการมากที่สุด โดยเฉพาะนักศึกษาต้องการได้รับคำแนะนำอย่างเพียงพอจากที่ปรึกษาเพื่อใช้แก้ปัญหาด้านวิชาการและที่ปรึกษาควรมีช่องทางการสื่อสารกับนักศึกษาที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ ผลการวิจัยนี้นำไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนเชิง กลยุทธ์สู่การปฏิบัติและการบริหารจัดการในคณะบริหารศาสตร์หรือในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป