โมเดลสมการโครงสร้างปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลสมการโครงสร้างปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่พัฒนาขึ้นจากทฤษฎีและผลงานวิจัยกับข้อมูลเชิงประจักษ์ 2) เพื่อทดสอบความไม่แปรเปลี่ยนของรูปแบบโมเดลสมการโครงสร้างปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานระหว่างขนาดของสถานศึกษาที่แตกต่างกัน และ 3) เพื่อศึกษาแนวทางการเสริมสร้างปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มตัวอย่าง คือ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 675 โรงเรียน ผู้ให้ข้อมูลได้แก่ ครูและผู้บริหาร/รองผู้บริหารสถานศึกษา โดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามมีค่าความเชื่อมั่น 0.90 แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ Mplus สถิติพรรณนาและสถิติอ้างอิง มีผลการวิจัยดังนี้
โมเดลสมการโครงสร้างปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่พัฒนาขึ้นมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ตามเกณฑ์ดังนี้=259.26 df= 229 P-value =0.070 /df = 1.132 CFI = 0.993 TLI = 0.997 RMSEA = 0.020 SRMR = 0.023
ผลการวิเคราะห์อิทธิพลทางตรง อิทธิพลทางอ้อม และอิทธิพลรวม พบว่า ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงมีอิทธิพลรวมสูงสุด เท่ากับ 0.774 รองลงมาคือ การสื่อสารที่ดี 0.730 ความไว้วางใจต่อกัน 0.467 โครงสร้างองค์กร 0.273 และความผูกพันต่อองค์กร 0.147 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยร่วมกันอธิบายชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ร้อยละ 83.7 และ พบว่า โมเดลมีความไม่แปรเปลี่ยนตามขนาดของสถานศึกษา เส้นทางอิทธิพลระหว่างตัวแปรแฝงภายในและตัวแปรแฝงภายนอกมีทิศทางไปในทิศทางบวกสอดคล้องกันทั้งสถานศึกษาขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่
การศึกษาแนวทางการเสริมสร้างปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ด้านการสื่อสารที่ดี ด้านความไว้วางใจต่อกัน และ ด้านโครงสร้างองค์กร โดยได้แนวทางสำหรับสถานศึกษาทั่วไป ประกอบด้วย 13 แนวทาง คือ 1) ผู้บริหารปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี 2) เสริมพลังอำนาจครู 3) การสร้างเครือข่ายเรียนรู้ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4) จัดสรรทรัพยากรสนับสนุนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ 5) สร้างวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมเพื่อการเรียนรู้ทางวิชาชีพ 6) จัดระบบครูพี่เลี้ยงเพื่อชี้แนะทางวิชาชีพ 7) ปรับเปลี่ยนบทบาทครู 8) ให้อิสระแก่ครูในการพัฒนาวิชาชีพ 9) พัฒนาครูในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้และพัฒนาวิชาชีพ 10) พัฒนาระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศ 11) สร้างวัฒนธรรมการสนทนาทางวิชาชีพเชิงวิพากษ์ 12) ปรับลดเวลาสอนเพื่อการเรียนรู้ทางวิชาชีพ และ 13) พัฒนาด้านการสื่อสารและการใช้สื่อเทคโนโลยีในเรียนรู้ แนวทางสำหรับสถานศึกษาขนาดเล็ก(เพิ่มเติม) คือ พัฒนาระบบการตรวจสอบและประเมินผลครู แนวทางสำหรับสถานศึกษาขนาดใหญ่ (เพิ่มเติม) คือ พัฒนาระบบการตรวจสอบและประเมินผลครู และหมุนเวียนงานเพื่อการเรียนรู้ทางวิชาชีพ