รูปแบบความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงเส้นของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพการศึกษา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อพัฒนาและทดสอบรูปแบบความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงเส้นของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพการศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและ เพื่อศึกษาอิทธิพลทางตรง ทางอ้อม และอิทธิพลรวมต่อคุณภาพการศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 880 คน ที่ได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย คุณภาพการศึกษา ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง บรรยากาศองค์การและการบริหารแบบมีส่วนร่วม เครื่องมือ ที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ผลการวิจัยพบว่า 1) รูปแบบความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงเส้นของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพการศึกษาที่พัฒนาขึ้นมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยตัวแปรพยากรณ์ที่ศึกษาสามารถอธิบายความแปรปรวนของคุณภาพการศึกษา ได้ร้อยละ 70 2) อิทธิพลทางตรง อิทธิพลทางอ้อม และอิทธิพลรวมของปัจจัยที่ศึกษา มีอิทธิพลต่อคุณภาพการศึกษา ดังนี้ ปัจจัยที่มีอิทธิพลทางตรงต่อคุณภาพการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 คือ การบริหารแบบมีส่วนร่วม และบรรยากาศองค์การ มีค่าสัมประสิทธิ์อิทธิพลมาตรฐานเท่ากับ 0.64 และ 0.23 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีอิทธิพลทางอ้อมต่อคุณภาพการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 คือ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงมีค่า สัมประสิทธิ์อิทธิพลมาตรฐานระดับ 0.28 อิทธิพลรวมต่อคุณภาพการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ประกอบด้วย การบริหารแบบมีส่วนร่วม ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง และบรรยากาศองค์การ มีค่าสัมประสิทธิ์อิทธิพลมาตรฐานเท่ากับ 0.58 , 0.28 และ 0.20 ตามลำดับ