รูปแบบความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงเส้นของปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

Main Article Content

พิรุณพรรณ เต็มวงษ์
มัณฑนา อินทุสมิต
สมาน นาวาสิทธิ์

Abstract

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงเส้นของปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 2) เพื่อศึกษาอิทธิพลทางตรง อิทธิพลทางอ้อม และอิทธิพลรวมของปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน กลุ่มตัวอย่างเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  510 โรง ซึ่งได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน ผู้ให้ข้อมูลในแต่ละโรง ประกอบด้วย  ผู้อำนวยการโรงเรียน  1 คน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการหรือหัวหน้าฝ่ายวิชาการ 1 คน และ หัวหน้ากลุ่มสาระภาษาไทย  สาระคณิตศาสตร์ สาระวิทยาศาสตร์ สาระสังคมศึกษาศาสนา และวัฒนธรรม และสาระภาษาต่างประเทศ รวมโรงเรียนละ 7 คน รวมทั้งหมด 3,570 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลหาค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สันและใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป  ในการวิเคราะห์ ความเบ้ ความโด่ง องค์ประกอบเชิงยืนยันและตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างรูปแบบตามสมมุติฐานกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้


              1.   รูปแบบความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงเส้นของปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์โดยพิจารณาจากค่าสถิติดังนี้c2=101.53, df = 81, p-Value = 0.06, RMSEA = 0.02, SRMR=0.04, GFI = 0.98, AGFI = 0.94, CN = 548.26


            2.  ปัจจัยที่มีอิทธิพลทางตรง อิทธิพลทางอ้อม และอิทธิพลรวมของปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเรียงลำดับค่าสัมประสิทธิ์อิทธิพลมาตรฐานตามลำดับ ดังนี้


                 2.1 ปัจจัยที่มีอิทธิพลทางตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน มี 4 ปัจจัย คือ การสอนที่มีประสิทธิผล การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียน ความรู้สึกเชิงบวกต่องานวิชาการของครู และภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารโรงเรียน มีค่าสัมประสิทธิ์อิทธิพลมาตรฐาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เท่ากับ 1.27, 0.49, -0.45 และ -1.27 ตามลำดับ


                   2.2 ปัจจัยที่มีอิทธิพลทางอ้อมต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน มี 1 ปัจจัย คือ ภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารโรงเรียน มีค่าสัมประสิทธิ์อิทธิพลมาตรฐาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เท่ากับ 1.23 โดยผ่านการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนและการสอนที่มีประสิทธิผล


                 2.3 ปัจจัยที่มีอิทธิพลรวมต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน มี 3 ปัจจัย คือ การสอนที่มีประสิทธิผล การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียน และความรู้สึกเชิงบวกต่องานวิชาการของครู มีค่าสัมประสิทธิ์อิทธิพลมาตรฐาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เท่ากับ 1.27, 0.62 และ -0.12 ตามลำดับ

Article Details

Section
บทความวิจัย