การศึกษาปัจจัยการบริหารจัดการที่ส่งผลต่อความผูกพันของครูโรงเรียนเอกชน ขั้นพื้นฐานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

Main Article Content

กิตติ วงษ์ชวลิตกุล
วิชัย วงษ์ใหญ่
จำเริญรัตน์ จิตต์จิรจรรย์
ไพโรจน์ กลิ่นกุหลาบ

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยการบริหารจัดการเพื่อสร้างความผูกพันของครูโรงเรียนเอกชนขั้นพื้นฐานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยการบริหารจัดการที่ส่งผลต่อความผูกพันของครูโรงเรียนเอกชนขั้นพื้นฐาน กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยในครั้งนี้ คือ ครูโรงเรียนเอกชนขั้นพื้นฐาน จำนวน 306 คน แต่เก็บรวบรวมได้ 253 คน คิดเป็นร้อยละ 82.67 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปโดยหาค่าเฉลี่ยร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ Pearson's product moment coefficient และ วิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน Stepwise Multiple Regression Analysis จากนั้นมีการจัดประชุมกลุ่มสัมมนาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อยืนยันผลการวิจัย


ผลวิจัยพบว่า


  1. ความเหมาะสมของแบบประเมินปัจจัยการบริหารจัดการที่ส่งผลต่อความผูกพันของครูโรงเรียนเอกชนขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมทั้งฉบับอยู่ในระดับมากที่สุดที่ x=4.77 และเมื่อจำแนกเป็นรายด้านพบว่าทุกด้านมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด เรียงลำดับคือ 1) ภาวะผู้นำของผู้บริหาร 2) การสร้างความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของครู 3) โครงสร้างระบบบริหาร 4) การสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน 5) การมอบหมายงานครู และ6) การสร้างความสุขในการปฏิบัติงาน และความเหมาะสมของความผูกพันของครูโรงเรียนเอกชน เมื่อจำแนกเป็นรายด้านพบว่าทุกด้านมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุดตามลำดับดังนี้ 1) ด้านความทุ่มเทในการปฏิบัติงาน 2) ด้านความจงรักภักดี และ 3) ด้านความศรัทธา

  2. การดำเนินการบริหารปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความผูกพันของครูโรงเรียนเอกชนขั้นพื้นฐานทั้งภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมากตามลำดับดังนี้ 1) ภาวะผู้นำของผู้บริหาร 2) การสร้างความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของครู 3) การสร้างความสุขในการปฏิบัติงานให้แก่ครู 4) การมอบหมายงานครู 5) โครงสร้างระบบบริหารของโรงเรียน และ 6) การสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของครู ตามลำดับ และครูโรงเรียนเอกชนมีระดับของความผูกพันโดยภาพรวมและและรายด้านอยู่ในระดับมาก ตามลำดับดังนี้ 1) ด้านความจงรักภักดี 2) ด้านความทุ่มเทในการปฏิบัติงาน 3) ด้านความศรัทธา

  3. ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยการบริหารจัดการที่ส่งผลต่อความผูกพันของครูโรงเรียนเอกชนขั้นพื้นฐานโดยภาพรวมอยู่ในระดับสูง (r=0.800) โดยเฉพาะความผูกพันด้านความศรัทธา มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยการสร้างความผูกพันในระดับสูงทุกด้าน ยกเว้นด้านโครงสร้างระบบบริหารที่มีความสัมพันธ์อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนด้านความทุ่มเทในการปฏิบัติงานและด้านความจงรักภักดี อยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน

            ปัจจัยที่ส่งผลต่อความผูกพันของครูโรงเรียนเอกชนขั้นพื้นฐาน ปรากฏว่ามีปัจจัยเพียง 3 ด้านที่ส่งผลต่อความผูกพันของครูโรงเรียนเอกชนขั้นพื้นฐาน ได้แก่ 1) ด้านการสร้างความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของครู 2) ด้านการสร้างความสุขในการปฏิบัติงานให้แก่ครู และ 3) ด้านการมอบหมายงานครู โดยสามารถอธิบายผูกพันของครูโรงเรียนเอกชนได้ร้อยละ 67.4


  1. การยืนยันผลวิจัยจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 7 ท่าน เห็นด้วยกับผลการวิจัยและยืนยันว่าการดำเนินการบริหารปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความผูกพันทั้ง 6 ด้านและระดับความผูกพันของครูทั้ง 3 ด้าน ทั้งภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมากและมีความเหมาะสม ยืนยันผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยการบริหารจัดการกับความผูกพันของครูโรงเรียนเอกชน โดยภาพรวมมีความสัมพันธ์กันในระดับสูง และยืนยันผลการวิเคราะห์ Stepwise Multiple Regression Analysis ที่มีปัจจัยการบริหารจัดการเพียง 3 ด้านที่ส่งผลต่อความผูกพันของครูโรงเรียนเอกชนขั้นพื้นฐาน

Article Details

Section
บทความวิจัย