องค์ประกอบและตัวบ่งชี้ความสามารถในการสื่อสารของผู้อำนวยการโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1)เพื่อศึกษาองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ ความสามารถในการสื่อสารของผู้อำนวยการโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2)ตรวจสอบความเที่ยงตรงตามสภาพขององค์ประกอบและตัวบ่งชี้ ความสามารถในการสื่อสารของผู้อำนวยการโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการดำเนินการวิจัยรวม 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 กำหนดองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ความสามารถในการสื่อสารของผู้อำนวยการโรงเรียน โดยศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสัมภาษณ์ผู้รู้และผู้มีประสบการณ์ และจัดประชุมกลุ่มสนทนาได้ 6 องค์ประกอบและ 81 ตัวบ่งชี้ แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 7 ท่าน ประเมินและคำนวณหาค่าดัชนีความสอดคล้องได้ค่าดัชนีความสอดคล้องอยู่ระหว่าง 0.71 – 1.00 ขั้นตอนที่ 2 นำองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ไปสร้างแบบสอบถามทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 30 จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 30 คน ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .97 และวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจและการตรวจสอบความเที่ยงตรงตามโครงสร้างของตัวบ่งชี้ โดยนำแบบสอบถามไปเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในภาคอีสาน รวม 15 เขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 20 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ในปีการศึกษา 2557 จำนวน 800 คน นำมาวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ สกัดปัจจัยเพื่อพิจารณาจัดกลุ่มตัวแปรด้วยวิธีวิเคราะห์องค์ประกอบหลักและใช้วิธีการหมุนแกนแบบออโธโกนอล ด้วยวิธีแวริแมกซ์ ขั้นตอนที่ 3 การตรวจสอบความเที่ยงตรงตามสภาพของตัวบ่งชี้จากกลุ่มผู้รู้แจ้งชัด ผู้วิจัยได้นำตัวบ่งชี้ที่ได้จากการดำเนินการข้างต้นมาสร้างแบบสอบถามเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มผู้รู้แจ้งชัด คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในภาคอีสาน จำนวน 30 คน วิเคราะห์ข้อมูลเทียบกับเกณฑ์ประเมินค่าที่ระดับ มาก โดยใช้สถิติ t-test
ผลการวิจัยพบว่า 1. องค์ประกอบและตัวบ่งชี้ความสามารถในการสื่อสารของผู้อำนวยการโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ 50 ตัวบ่งชี้ คือ 1)การสื่อสารได้ตามเหตุการณ์ สภาพแวดล้อม และบุคคลที่จะสื่อสารด้วย มี 15 ตัวบ่งชี้ 2)การสื่อสารด้วยการใช้ข้อมูลย้อนกลับ มี 12 ตัวบ่งชี้ 3)การสื่อสารด้วยการพูด มี 6 ตัวบ่งชี้ 4)การสื่อสารด้วยการฟัง มี 5 ตัวบ่งชี้ 5)การสื่อสารด้วยบุคลิกภาพ กริยา ท่าทาง มี 6 ตัวบ่งชี้ และ 6)การสื่อสารด้วยลายลักษณ์ อักษร และสัญลักษณ์ มี 6 ตัวบ่งชี้
- จากการนำตัวบ่งชี้ที่ค้นพบไปทดสอบกับกลุ่มผู้รู้แจ้งชัด ปรากฏว่า มีนัยสำคัญทางสถิติทุก
ตัวบ่งชี้ ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่าตัวบ่งชี้ทั้ง 50 ตัว มีความเที่ยงตรงตามสภาพจริง