การพัฒนาตัวชี้วัดการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีประสิทธิผล

Main Article Content

พิชญาพร ศรีหลิ่ง
มัณฑนา อินทุสมิต
สมาน นาวาสิทธิ์

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาตัวชี้วัดการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีประสิทธิผล วิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจและองค์ประกอบเชิงยืนยันของตัวชี้วัดการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีประสิทธิผล และทดสอบความสอดคล้องของแบบจำลองตัวชี้วัดการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีประสิทธิผล การดำเนินการวิจัยมี 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 การจัดทำร่างตัวชี้วัดการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 12 คน ขั้นตอนที่ 2 การวิเคราะห์องค์ประกอบตัวชี้วัดการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงเชิงสำรวจ และขั้นตอนที่ 3 การวิเคราะห์ความสอดคล้องของแบบจำลองตัวชี้วัดการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน ประชากรในการวิจัยครั้งนี้คือ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และครูผู้ดูแลเด็กเล็กศูนย์ละ 2 คนที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการศึกษาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 12 คน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 768 แห่ง ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วย หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้สอนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมทั้งสิ้น 1,536 คน แบ่งศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ จำนวน 384 แห่ง รวม 768 คน และการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน จำนวน 384 แห่ง รวม 768 คน ซึ่งได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง และแบบสอบถามเป็นแบบมาตรวัดประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 80 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ .82  วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรมแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป เพื่อหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์การสัมภาษณ์ด้วยการสังเคราะห์ผล การแปลความ หรือตีความเทียบเคียงการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจเพื่อหาความเหมาะสมของแบบจำลองตัวชี้วัดโดยการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน การวิเคราะห์น้ำหนักองค์ประกอบของประสิทธิผลของการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน เพื่อวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างแบบจำลองทฤษฎีกับข้อมูลเชิงประจักษ์โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป (LISREL 10) ผลการวิจัย พบว่า


  1. ผลการสร้างและการพัฒนาตัวชี้วัดการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีประสิทธิผลจำแนกได้ 4 องค์ประกอบ 80 ตัวชี้วัด

  2. ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจของตัวชี้วัดการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีประสิทธิผล พบ องค์ประกอบที่สำคัญ 4 องค์ประกอบ 71 ตัวชี้วัด มีค่าน้ำหนักองค์ประกอบตั้งแต่ 0.68 - 0.86 มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เรียงลำดับตามน้ำหนักองค์ประกอบจากมากไปน้อย ดังนี้ การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง จำนวน 17 ตัวชี้วัด การจัดการเรียนการสอน จำนวน 20 ตัวชี้วัด อาคารสถานที่ สภาพแวดล้อม และความปลอดภัย จำนวน 17 ตัวชี้วัด และภาวะผู้นำของหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 17 ตัวชี้วัด

  3. ผลการตรวจสอบความสอดคล้องของแบบจำลองการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันของตัวชี้วัดกับข้อมูลเชิงประจักษ์ มีค่าสถิติ ดังนี้ ค่าไค-สแควร์ (χ2) = .33 df = 1.00 p = .57 GFI = 1.00 AGFI = .99 CFI = 1.00 และ RMSEA = .00 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ แสดงว่าแบบจำลองการพัฒนาตัวชี้วัดการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีประสิทธิผลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นไปตามสมมติฐาน

Article Details

Section
บทความวิจัย