รูปแบบการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม : กรณีศึกษาโรงเรียนบ้านหนองดอกบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 1
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 2) เพื่อปฏิบัติการตามร่างรูปแบบการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 และ 3) เพื่อประเมินรูปแบบการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนบ้านหนองดอกบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 1 โดยการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยใช้วงจร D-A-M-R ตามแนวคิดของ James, Milenkiewicz & Bucknam (2008) ดังนี้ การวินิจฉัยปัญหา (Diagnosis) การปฏิบัติการ (Action) การวัดผลการปฏิบัติการ (Measure) และการสะท้อนผลการปฏิบัติการ (Reflect) กลุ่มเป้าหมายได้แก่ ผู้บริหาร จำนวน 1 คน ครูจำนวน 4 คน นักเรียน จำนวน 54 คน ผู้ปกครอง จำนวน 54 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน และผู้แทนชุมชน จำนวน 10 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เชิงลึก และแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยการหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ประเมินรูปแบบโดยเกณฑ์ ดังนี้ ด้านความเป็นประโยชน์ ด้านความเป็นไปได้ ด้านความเหมาะสม และด้านความถูกต้อง
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ รูปแบบการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนบ้านหนองดอกบัว จากการศึกษาเอกสาร การประชุมชี้แจงผู้เกี่ยวข้อง การสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เชิงลึก ทำให้ได้รูปแบบ ดังนี้ 1) การพัฒนาบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองและชุมชน ให้มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตน 2) การพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล การวิเคราะห์ข้อสอบ NT (LNR), O-NET และ PISA 3) การพัฒนาครูให้มีความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT)เพื่อจัดการเรียนรู้ 4) การพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน (Project Based Learning : PBL) 5) การพัฒนาทักษะนักเรียนในด้าน ICT 6) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครู (PLC) และ 7) การมีภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหาร
การปฏิบัติการโดยใช้วงจร D-A-M-R จำนวน 2 วงรอบ พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3(NT) และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (O-NET) มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ทักษะในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน ได้แก่ 1) ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา 2) ทักษะการสร้างสรรค์และนวัตกรรม 3) ทักษะความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ 4) ทักษะการสื่อสาร สารสนเทศและรู้เท่าทันสื่อ และ 5) ทักษะคอมพิวเตอร์ และสารสนเทศการสื่อสาร มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ผลการประเมินรูปแบบการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ของโรงเรียนบ้านหนองดอกบัว โดยภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก และหากพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านความเป็นประโยชน์ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด และจากแบบสำรวจความพึงพอใจของนักเรียน พบว่า นักเรียนมีความมั่นใจในตัวเองและกล้าแสดงออกมากขึ้น มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด