รูปแบบการพัฒนาพฤติกรรมการจัดการขยะมูลฝอยของผู้ค้าตลาดสดจังหวัดมหาสารคาม
คำสำคัญ:
รูปแบบการพัฒนา, พฤติกรรมการจัดการขยะมูลฝอย, ผู้ค้าตลาดสดบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการจัดการขยะมูลฝอยของผู้ค้าตลาดสด จังหวัดมหาสารคาม 2) เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาพฤติกรรมการจัดการขยะมูลฝอยของผู้ค้าตลาดสด จังหวัดมหาสารคาม และ 3) เพื่อประเมินผลการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาพฤติกรรมการจัดการขยะมูลฝอยของผู้ค้าตลาดสด จังหวัดมหาสารคาม เป็นการวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ (Mixed Methods) แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งมีเครื่องมือในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมินผล โดยมีกลุ่มตัวอย่างระยะที่ 1 คือ ผู้ค้าตลาดสด จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 361 คน จากการใช้สูตรของทาโร่ ยามาเน่ และกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 2 จำนวน 20 คน และระยะที่ 3 จำนวน 30 คน ที่ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง แล้วเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถาม แบบประเมินผล มาวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ประกอบด้วย ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติวิเคราะห์สมการเชิงโครงสร้าง (Structural Equation Model: SEM) โดยใช้โปรแกรมลิสเรล (LISREL) อีกทั้งที่ได้จากแบบสัมภาษณ์มาวิเคราะห์ในเชิงเนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัยพบว่า 1) ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการจัดการขยะมูลฝอยของผู้ค้าตลาดสด จังหวัดมหาสารคาม ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05 ได้แก่ 1.1) ความรู้เกี่ยวกับขยะมูลฝอย (β=0.43) 1.2) การมีส่วนร่วม (β=0.13) 1.3) เจตคติต่อปัญหาขยะมูลฝอย (β=0.13) และ 1.4) การสื่อสาร (β=0.08) 2) รูปแบบการพัฒนาพฤติกรรมการจัดการขยะมูลฝอยของผู้ค้าตลาดสด จังหวัดมหาสารคาม ได้แก่ 2.1) การจัดการขยะอย่างเป็นระบบ 2.2) ขยะต้นทาง 2.3) กลุ่มจัดการขยะ 2.4) ขยะเป็นประโยชน์ 2.5) ขยะเป็นรายได้ 2.6) เล่นไลน์กันเถอะ 2.7) ป้ายประชาสัมพันธ์ 2.8) การศึกษาดูงาน 2.9) 5 ส ตลาดสด 2.10) ตลาดสดสีเขียว 2.11) มีขยะคือมีชีวิต และ 2.12) เสียงตามสายในตลาดสด และ 3) ผลการทดลองใช้และประเมินผลการใช้รูปแบบการพัฒนาพฤติกรรมการจัดการขยะมูลฝอยของผู้ค้าตลาดสด จังหวัดมหาสารคาม พบว่า มีความแตกต่างกันก่อนกับหลังทดลองใช้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยพฤติกรรมการจัดการขยะมูลฝอยของผู้ค้าตลาดสด จังหวัดมหาสารคาม ดีขึ้นกว่าก่อนการทดลอง