ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะการรู้คิดบกพร่องของผู้สูงอายุตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี

ผู้แต่ง

  • กัลยา มั่นล้วน หน่วยวิจัยวิทยาการปัญญาและนวัตกรรม วิทยาลัยการวิจัยและวิทยาการทางปัญญา มหาวิทยาลัยบูรพา.

คำสำคัญ:

ภาวะการรู้คิดบกพร่อง, สมรรถภาพความจำ, ผู้สูงอายุ

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาภาวะการรู้คิดบกพร่องของผู้สูงอายุ ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี 2. เพื่อศึกษาการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันและสมรรถภาพความจำของผู้สูงอายุที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่อง และ 3. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง เพศ อายุ การศึกษา รายได้ โรคประจำตัว การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และสมรรถภาพความจำกับภาวะการรู้คิดบกพร่องของผู้สูงอายุที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่อง เป็นการวิจัยแบบเชิงปริมาณ มีเครื่องมือในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล/ แบบประเมินความสามารถในการประกอบชีวิตประจำวันขั้นพื้นฐาน/แบบประเมินภาวะการรู้คิดบกพร่อง กิจกรรมทดสอบความจำ (Mnemonic Similarity Task: MST) โดยมีกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้สูงอายุ จำนวน 140 คน ที่มาจากการคำนวนขนาดกลุ่มเป้าหมายที่มาจากการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย แล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้จากแบบสอบถามมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ประกอบด้วย ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ เพียร์สัน แล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้จากแบบประเมิน มาวิเคราะห์แบบเชิงเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า 1) มีผู้สูงอายุที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่อง (MoCA < 24) จำนวน 114 คน คิดเป็นร้อยละ 81.42 2) คะแนนการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันในระดับไม่เป็นภาระพึ่งพา คิดเป็นร้อยละ 78.90 และสมรรถภาพความจำ ในระดับต่ำ คิดเป็นร้อละ 34.20 และ 3) อายุ การศึกษา รายได้ โรคประจำตัว การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และสมรรถภาพความจำ มีความสัมพันธ์กับภาวะการรู้คิดบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จากผลการวิจัยในครั้งนี้ ควรนำการคัดกรองภาวะการรู้คิดบกพร่องไปใช้ในการคัดกรองผู้สูงอายุให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน และควรนำผลการวิจัยที่ได้ไปใช้เป็นแนวทางในการให้ความรู้ในการปฏิบัติตนในการป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-06-21