Buddhist philosophy and Marxist philosophy

Main Article Content

พระมหาธีรวัฒน์ ธีรวฑฺฒนเมธี (พันธ์ศรี)

Abstract

สาระสำคัญบทที่ 1 สิ่งที่มีตามพุทธปรัชญาเรียกว่า ปรมัตถธรรม หมายถึงธรรมที่มีอยู่จริงอย่างยิ่ง (Ultimate reality) ตรงกับตะวันตกที่เรียกว่า สิ่งที่มี (Being)  สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.รูปธรรม เปรียบเทียบได้กับประกฤติในปรัชญาสางขยะ หรือ สสาร (Matter) ในความหมายของปรัชญาตะวันตก มีคุณสมบัติ 3 ประการคือ (1) เปลี่ยนแปลงคุณภาพได้ ซึ่งอาจเจริญเติบโตหรือเสื่อมสลายตัว แล้วแต่ปัจจัยปรุงแต่ง (2) แปรสภาพได้เมื่อถูกปัจจัยที่อิทธิพลเหนือกว่า (3) โดยตัวของมันเองเป็นอัพยากฤต คือไม่ดีไม่ชั่วไม่เป็นคุณ ไม่เป็นโทษ ส่วนความดี ความชั่ว ความเป็นคุณ ความเป็นโทษ ในอภิธรรมจำแนกรูปที่ต้องประกอบด้วยมหาภูตรูป 4 (ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ)กับอุปาทายรูป 24 คือ รูปที่อาศัยการปรุงแต่งมาจากมหาภูตรูป 4 ได้แก่ ปสาทรูป 5 โคจรรูป4ภาวรูป 2 หทยรูป 1 ชีวิตรูป 1 อาหารรูป 1 ปริเฉทรูป 1 วิญญัติรูป 2 วิการรูป 3 ลักขณรูป 4 รวมเป็นอุปาทายรูป 24  จำแนกรูปโดยวิภาค ซึ่งมีอัชฌัตติกรูป -พาหิรรูป วัตถรูป- อวัตถุรูป  ทวารรูป-อทวารรูป อินทรียรูป-อนินทรียรูป โอฬาริกรูป-สุขุมรูป  หรือจำแนกโดยสมุฎฐาน กัมมสมุฏฐานรูป จิตตสมุฏฐานรูป อุตุสมุฏฐานรูป อาหารสมุฏฐานรูป  เพราะฉะนั้นรูปจึงหมายถึงบรรดาสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่จริง โดยเป็นอิสระต่างหากจากนามธรรม อาทิเช่น ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ ปรากฎการณ์ สิ่งทั้งหลายทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต สภาพแวดล้อม ความเป็นจริง ความประจักษ์ สภาพปกติ สภาพธรรมดา ศีลธรรม ความเป็นธรรมและสิ่งอื่น ๆ ที่มีรูปคือ รูปรูป และสิ่งที่ไม่มีรูป คือ อรูปรูปอันได้แก่อาการนามและคุณนามทั้งหลาย  2. นามธรรม เปรียบเทียบได้กับ ปุรุษ ในปรัชญาสางขยะ หรือ จิต (Mind)ในความหมายของปรัชญาตะวันตก   นอกจากนั้นทางพุทธปรัชญายังรวมไปถึงจิต เจตสิก และนิพพาน  นามธรรมคือธรรมชาติที่มิใช่รูป มีความสัมพันธ์ด้วยการรับรู้ พุทธปรัชญาแบ่งออก 3 ชนิดคือ 1.จิต  หมายถึงธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ (อารมฺมณํ วิชานาตีติ จิตฺตํ) ธรรมชาติที่รู้จักคิด(จินฺเตตีติ จิตฺตํ) ธรรมชาติที่รู้จักใฝ่ฝันอันวิจิตร (วิจิตฺตํ กโรตีติ) ความหมายตรงกับตะวันตกคำว่า Mind  มนุษย์มีจิตดวงเดียวเพื่อความเข้าใจคุณภาพของจิตที่ปฏิบัติงานในหน้าที่ต่างๆกัน  อภิธรรมได้จำแนกจิตโดยสังคหวิภาคมี กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตรจิต  จำแนกจิตโดยปกิณณกสังคหวิภาค จำแนกจิตโดยวิถีสังคหวิภาค ในที่นี่จะกล่าวถึงเฉพาะจำแนกจิตโดยถือเอากาล เป็นเครื่องกำหนด มีอยู่ 3 กาล คือ จิตเมื่อแรกเกิด(ปฏิสนธิกาล) เรียกว่า ปฏิสนธิจิต จิตที่พัฒนาก้าวหน้ามาพร้อมกับความเจริญเติบโตทางร่างกาย (ปวัตติกาล)เรียกว่า ปวัตติจิต และจิตในขณะที่ดับไปเมื่อถึงกาลมรณะ(จุติกาล)เรียกว่า จุติจิต มุมมองพุทธปรัชญา ถือว่ามนุษย์สัตว์โลกที่มีโยนิ(กำเนิด)จากครรภ์มารดา(คพฺพเสยฺยก)โดยก่อกำเนิดขึ้นในมดลูกของมารดา(ชลาพุช) มนุษย์จะก่อกำเนิดขึ้นนั้นมีไข่(กลล) จากปีกมดลูกของมารดา จะไหลลื่นลงมอยู่ในมดลูกของมารดา ต่อมาครั้งอสุจิ(คนฺธพฺพ) จากบิดาเข้าไปผสมพันธุ์โดยทลวงไข่ในมดลูกของมารดาได้แล้ว ชีวิตของมนุษย์ก็จะเริ่มปฏิสนธิ เกิดเป็นรูปและมีจิต จิตในระยะแรกเรียกว่า ปฏิสนธิจิต  และพัฒนาพร้อมกับความเจริญเติบโตของร่างกาย จนกลายมาเป็นทารก จากวัยเด็กสู่วัยหนุ่มสาว สู่วัยกลางคน สู่วัยชรา จิตจะพัฒนาไปสู่ช่วงระยะแห่งปวัตติกาล เรียกว่า ปวัตติจิต เป็นวัยชราภาพ ซึ่งสุดท้ายจะถึงมรณกาล คือตาย เรียกว่า จุติจิต  จิตในช่วงปวัตติกาล เป็นจิตที่มีช่วงแห่งพัฒนาการในระยะที่เวลาที่ค่อนข้าง อาจแบ่งเป็น 2 อย่างคือ โดยถือเอาหน้าที่ (Function) เป็นเครื่องกำหนดคือ วิถีจิต กับภวังคจิต (Conscious  mind and Sub-conscious mind) โดยวิถีจิตมีหน้าที่รับรู้อารมณ์ (Reflection) คือรับสะท้อนความจริงเป็นความจริงทางภาววิสัยหรือจากภายนอก 2.เจตสิก คือธรรมชาติที่เป็นสัมปโยค(กำกับอยู่ด้วยกัน)กับจิต เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รับรู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และอาศัยวัตถุอย่างเดียวกันกับจิต กล่าวโดยสรุป เจตสิกคือตัวพลังแห่งจิต (Will, Power) ทำให้จิตกระสับกระเฉงในการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ตลอดจนเป็นตัวกระตุ้น (Starter) และเป็นตัวปฎิกร(Reactor)ของจิต 3.นิพพาน คือสภาพของจิตที่ได้รับการชำระแล้วจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน มีความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วซึ่งสภาพธรรมชาติทั้งหลายของรูป และหลุดพ้นจากเหตุและขันธ์ทั้งหลาย จนบรรลุถึงความสงบเยือกเย็นอย่างแท้จริง หรืออีกนัยหนึ่งคือ สภาพของจิตที่สะอาด สว่าง และสงบแล้วอย่างสมบูรณ์ สภาวธรรมของจิตใจระดับขั้นสูงสุดเช่นเรียกว่า พระนิพพาน

Article Details

Section
Book Review