สภาวะน่าสบายของเรือนล้านนาร่วมสมัย : กรณีศึกษาเรือนพักอาศัย อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

Main Article Content

รชฏ ประทีป ณ ถลาง
ธนิต จินดาวณิค

Abstract

THERMAL COMFORT OF CONTEMPORARY NORTHERN THAI STYLE HOUSE : A CASE STUDY OF LOCAL RESIDENTS IN CHIANG KHAM PREFECTURE, PHAYAO PROVINCE

การศึกษานี้ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจและทดลอง (survey and experimental research) เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงเรือนล้านนาทางด้านอุณหภาพ ให้มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ในสภาวะปัจจุบัน วัสดุท้องถิ่นสมัยใหม่ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นที่คัดเลือกมา 3 ชนิด ได้แก่ แผ่นซีเมนต์จากใยไมยราฟยักษ์ อิฐดินเบาลำปาง และอิฐขี้เถ้าลอยแม่เมาะ นำมาเปรียบเทียบกับไม้จริงหนาครึ่งนิ้ว ซึ่งเป็นวัสดุเดิมที่ใช้ประกอบเรือนล้านนา เพื่อปรับปรุงเรือนล้านนาให้มีสภาวะน่าสบายมากที่สุด

กระบวนการในการวิจัยประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 การสำรวจเรือนล้านนาที่ยังมีการใช้งานในปัจจุบัน ขั้นตอนที่ 2 ศึกษารูปแบบการใช้งาน พื้นที่ใช้งานภายในเรือน วัสดุที่ใช้ประกอบเรือน และทำการเก็บข้อมูลอุณหภูมิอากาศ และความชื้นสัมพัทธ์ที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกเรือน เรือนล้านนาที่ทำการศึกษามีทั้งหมด 5 เรือน ตั้งอยู่ที่ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ขั้นตอนที่ 3 ดำเนินการสำรวจวัสดุท้องถิ่นสมัยใหม่ที่หาได้ง่ายในภาคเหนือ คือ แผ่นซีเมนต์จากใยไมยราฟยักษ์ อิฐดินเบาลำปาง และอิฐขี้เถ้าลอยแม่เมาะ มาทดสอบค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อน (k) ในห้องทดลอง และขั้นตอนสุดท้าย คือการศึกษาเปรียบเทียบคุณสมบัติของวัสดุที่ส่งผลต่อสภาวะน่าสบายภายในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยกำหนดสภาวะน่าสบายอยู่ระหว่าง อุณหภูมิอากาศ 25.6–31.5 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ 62.2–90 เปอร์เซ็นต์

ผลจากการศึกษาพบว่า การระบายอากาศธรรมชาติ (natural ventilation) การรั่วซึมของผนัง (infiltration rate) ค่าการต้านทานความร้อนของวัสดุ และค่าการหน่วงเหนี่ยวความร้อน มีอิทธิพลต่อสภาวะน่าสบายที่เกิดขึ้นภายในเรือนล้านนา ผลจากการจำลองในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พบว่าเรือนล้านนาเดิม มีสภาวะน่าสบาย ตลอดทั้งปี ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ โดยในช่วงฤดูฝนจะมีสภาวะน่าสบายมากที่สุด สภาวะที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ตลอดทั้งปีจะอยู่ในช่วงต่ำกว่าสภาวะน่าสบาย โดยเฉลี่ยประมาณ 53 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือได้ว่า เรือนล้านนายังมีคุณสมบัติทางด้านสภาวะน่าสบายเหมาะสมในระดับหนึ่ง จากการศึกษาวัสดุท้องถิ่นสมัยใหม่พบว่า แผ่นซีเมนต์จากใยไมยราฟยักษ์ มีคุณสมบัติทางด้านสภาวะน่าสบายใกล้เคียงกับไม้จริง หนาครึ่งนิ้ว และในส่วนอิฐดินเบาลำปาง และอิฐขี้เถ้าลอยแม่เมาะ กรณีไม่มีการระบายอากาศธรรมชาติ มีคุณสมบัติทางด้านสภาวะน่าสบายใกล้เคียงกัน โดยดีกว่าไม้จริงที่ใช้ประกอบเรือนล้านนา ประมาณ 20–30 เปอร์เซ็นต์ และแนวทางที่ใช้ในการปรับปรุงสภาวะน่าสบายของเรือนล้านนา แนวทางแรกคือ ปรับปรุงการระบายอากาศธรรมชาติเนื่องจากพื้นที่ศึกษามีภูมิอากาศที่หนาวเย็น โดยการลดการระบายอากาศธรรมชาติ จะทำให้สัดส่วนสภาวะน่าสบายมีมากกว่ากรณีที่มีการระบายอากาศธรรมชาติ และเลือกใช้วัสดุที่มีอัตราการรั่วซึมของผนังที่ต่ำ แนวทางต่อมาคือการเลือกใช้วัสดุที่เป็นฉนวน และมีค่าการหน่วงเหนี่ยวความร้อนที่เหมาะสม ซึ่งผนังอิฐขี้เถ้าลอยแม่เมาะจะเหมาะสมที่สุด รองลงมาคือ ผนังอิฐดินเบาลำปาง ผนังไม้จริง และผนังซีเมนต์จากใยไมยราฟยักษ์ ตามลำดับ

Article Details

Section
บทความวิจัย