การจำลองสภาพเสมือนจริงของพื้นที่อาคารสำนักงานเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพพลังงานระหว่างเทคนิคการให้แสงเฉพาะที่เพื่อเสริมการให้แสงในบริเวณทั่วไป และเทคนิคการให้แสงสว่างในพื้นที่ใช้งานในลักษณะทั่วไป

Main Article Content

ภคพร เรืองศรี
วรภัทร์ อิงคโรจน์ฤทธิ์

Abstract

The Computer Simulation of Office Space to compare Energy Performance between Task–Ambient Lighting and Uniform Lighting

งานวิจัยฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ เรื่อง การพัฒนาโคมไฟประหยัดพลังงานซึ่งใช้เทคนิคการให้แสงเฉพาะที่เพื่อเสริมการให้แสงในบริเวณทั่วไปสำหรับอาคารสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพพลังงานและประสิทธิภาพแสงสว่างระหว่างเทคนิคการให้แสงเฉพาะที่เพื่อเสริมการให้แสงในบริเวณทั่วไป และเทคนิคการให้แสงสว่างในพื้นที่ใช้งานในลักษณะทั่วไป โดยใช้วิธีการจำลองสภาพเสมือนจริงของการให้แสงสว่างในพื้นที่อาคารสำนักงานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ DIALux 4.6 ในขั้นตอนการวิจัยได้จำลองห้องทำงาน ขนาด 27 ตารางเมตร จำนวนสองห้อง ห้องทำงานแรกใช้เทคนิคการให้แสงสว่างในพื้นที่ใช้งานในลักษณะทั่วไป และห้องทำงานที่สองใช้เทคนิคการให้แสงเฉพาะที่เพื่อเสริมการให้แสงในบริเวณทั่วไป โดยกำหนดให้ค่าเฉลี่ยของค่าการส่องสว่างที่ระนาบแนวนอนที่ระดับโต๊ะทำงานของทั้งสองห้องมีค่าเท่ากัน

ผลการวิจัยพบว่า ค่ากำลังไฟฟ้าส่องสว่างภายในของห้องทำงานที่ใช้เทคนิคการให้แสงเฉพาะที่เพื่อเสริมการให้แสงในบริเวณทั่วไป มีค่า 7.11 วัตต์/ตารางเมตร ส่วนห้องทำงานที่ใช้เทคนิคการให้แสงสว่างในพื้นที่ใช้งานในลักษณะทั่วไป มีค่า 13.33 วัตต์/ตารางเมตร โดยผลที่ได้นั้นมีค่าน้อยกว่าค่ากำลังไฟฟ้าส่องสว่างภายในสำหรับอาคารสำนักงานที่มีค่า 14 วัตต์/ตารางเมตร ซึ่งกำหนดโดยร่างกฎกระทรวงฯ พ.ศ.2550 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสองเทคนิคพบว่า ห้องทำงานที่ใช้เทคนิคการให้แสงเฉพาะที่เพื่อเสริมการให้แสงในบริเวณทั่วไปมีค่ากำลังไฟฟ้าส่องสว่างภายในที่น้อยกว่าห้องทำงานที่ใช้เทคนิคการให้แสงสว่างในพื้นที่ใช้งานในลักษณะทั่วไป 46.7% เมื่อนำเทคนิคนี้ไปประยุกต์ใช้งานในพื้นที่อาคารสำนักงานทั่วไปจะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ใช้สำหรับระบบแสงสว่างลงได้ และสามารถนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการพัฒนาออกแบบอุปกรณ์ทางด้านการให้แสงสว่างต่อไปได้ในอนาคต  

Article Details

Section
บทความวิจัย