ภาวะผู้นำเชิงดิจิทัลของผู้บริหารที่ส่งผลต่อสมรรถนะดิจิทัลของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3
คำสำคัญ:
ภาวะผู้นำเชิงดิจิทัล, สมรรถนะดิจิทัล, ผู้บริหารสถานศึกษาบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาภาวะผู้นำเชิงดิจิทัลของผู้บริหาร 2. เพื่อศึกษาสมรรถนะดิจิทัลของครู 3. เพื่อศึกษาภาวะผู้นำเชิงดิจิทัลของผู้บริหารที่ส่งผลต่อสมรรถนะดิจิทัลของครู และ 4. เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงดิจิทัลของผู้บริหารที่ส่งผลต่อสมรรถนะดิจิทัลของครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 เป็นการวิจัยแบบผสมผสานระหว่างเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ มีเครื่องมือในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ โดยมีกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน รวมจำนวน 310 คน ที่ได้มาโดยการใช้ตารางกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างของ Krejcie & Morgan (1970) กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 10 คน ที่มาจากการเลือกแบบเจาะจง แล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้จากแบบสอบถามมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ประกอบด้วย ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติการวิเคราะห์โดยหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบปกติ และสร้างสมการถดถอย อีกทั้ง การนำข้อมูลที่ได้จากแบบสัมภาษณ์มาวิเคราะห์ในเชิงเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า 1) ภาวะผู้นำเชิงดิจิทัลของผู้บริหาร โดยรวมอยู่ในระดับมาก (x̅= 4.17, S.D.= 0.73) 2) สมรรถนะดิจิทัลของครูโดยรวมอยู่ในระดับมาก (x̅= 4.31, S.D.= 0.63) 3) ภาวะผู้นำเชิงดิจิทัลของผู้บริหารที่ส่งผลต่อสมรรถนะดิจิทัลของครู คือ การสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัล มีความสัมพันธ์เชิงบวก อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 และการมีวิสัยทัศน์ดิจิทัล มีความสัมพันธ์เชิงลบอย่างมีนัยสำคัญสำคัญที่ระดับ .05 และสามารถพยากรณ์ผลสมรรถนะดิจิทัลของครู ได้ร้อยละ 24.3 และ 4) แนวทางในการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงดิจิทัลของผู้บริหารที่ส่งผลต่อสมรรถนะดิจิทัลของครู 4.1) ด้านวิสัยทัศน์ดิจิทัล ผู้บริหารต้องมีความรู้ด้านความปลอดภัยในสื่อดิจิทัล ใช้ช่องทางออนไลน์อย่างมีวิจารณญาณ และกำหนดวิสัยทัศน์ดิจิทัลเป็นแนวทางพัฒนาทักษะของบุคลากร 4.2) ด้านการพัฒนาวิชาชีพ ส่งเสริมการพัฒนาครูให้ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ เป็นผู้นำในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และถ่ายทอดความรู้สู่นักเรียน 4.3) ด้านการจัดการเรียนรู้เชิงดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการข้อมูล สนับสนุนการเรียนรู้ และจัดหาสื่อดิจิทัลที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาการศึกษา และ 4.4) ด้านการสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัล สร้างสังคมการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูและผู้บริหาร ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบในยุคดิจิทัล