ปัญหาการคุ้มครองพยานเด็กในคดีค้ามนุษย์
คำสำคัญ:
องค์กรอาชญากรรม, คดีค้ามนุษย์, มาตรการพิเศษบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎี หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพยานเด็ก รวมถึงมาตรการปกปิด มิให้เปิดเผยชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของพยาน และมาตรการพิเศษในคดีค้ามนุษย์ 2. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบมาตรการในการคุ้มครองพยานเด็ก รวมถึงมาตรการปกปิดมิให้เปิดเผยชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของพยานและมาตรการพิเศษในคดีค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และประเทศอังกฤษ 3. เพื่อศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และมาตรการในการคุ้มครองพยานเด็กในคดีค้ามนุษย์ของประเทศไทย และ 4. เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการคุ้มครองพยานเด็กในคดีค้ามนุษย์ของประเทศไทย เป็นการวิจัยแบบเชิงคุณภาพ โดยจะทการศึกษารวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง อาทิ วิทยานิพนธ์ บทความทางวิชาการ งานวิจัย ตัวบทกฎหมาย และข้อมูลสารสนเทศทางอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพยานเด็ก รวมถึงมาตรการปกปิด มิให้เปิดเผย ชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของพยาน และมาตรการพิเศษอื่นในคดีค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และประเทศอังกฤษ แล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้ มาวิเคราะห์แบบเชิงเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า 1) แนวคิด ทฤษฎี หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพยานเด็กในคดีค้ามนุษย์ ยึดหลักการสิทธิมนุษยชนโดยมุ่งเน้นให้เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการถูกละเมิด รวมถึงการคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม 2) มาตรการในการคุ้มครองพยานเด็กในคดีค้ามนุษย์ของประเทศไทย เมื่อเทียบกับต่างประเทศยังมีข้อจำกัดหลายประการ 3) หลักเกณฑ์และมาตรการในการคุ้มครองพยานเด็ก รวมถึงมาตรการปกปิด มิให้เปิดเผยชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของพยาน และมาตรการอื่นในคดีค้ามนุษย์ของประเทศไทยยังมีข้อจำกัดตั้งแต่กระบวนการคุ้มครองสิทธิในชั้นสอบสวนที่ไม่ครอบคลุมในความผิดค้ามนุษย์ รวมทั้งข้อจำกัดเกี่ยวกับการเบิกความของพยานเด็กในระหว่างขั้นตอนการสืบพยานบุคคลที่ต้องทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยส่งผลให้เด็กไม่ได้รับความปลอดภัย และ 4) เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 มาตรา 36 และพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 มาตรา 5 ให้ครอบคลุมและมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น