รูปแบบการพัฒนาจริยธรรมด้านการมีวินัยของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในจังหวัดร้อยเอ็ด
คำสำคัญ:
รูปแบบการพัฒนาจริยธรรม, การมีวินัยของนักเรียน, จังหวัดร้อยเอ็ดบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อจริยธรรมด้านการมีวินัยของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในจังหวัดร้อยเอ็ด 2) เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาจริยธรรมด้านการมีวินัยของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในจังหวัดร้อยเอ็ด และ 3) เพื่อทดลองใช้และประเมินผลรูปแบบการพัฒนาจริยธรรมด้านการมีวินัยของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนในจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นการวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ (Mixed Methods) แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งมีเครื่องมือในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมินผล โดยมีกลุ่มตัวอย่างระยะที่ 1 คือ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาในจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 394 คน และกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 2 จำนวน 20 คน และระยะที่ 3 จำนวน 42 คน แล้วเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถาม แบบประเมินผล มาวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ประกอบด้วย ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติวิเคราะห์สมการเชิงโครงสร้าง (Structural Equation Model: SEM) โดยใช้โปรแกรมลิสเรล (LISREL) การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วมหลายตัวแปรตาม (Multivariate Analysis of Covariance :MANCOVA) กำหนดค่านัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 อีกทั้งที่ได้จากแบบสัมภาษณ์มาวิเคราะห์ในเชิงเนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัยพบว่า 1) ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อจริยธรรมด้านการมีวินัยของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในจังหวัดร้อยเอ็ดอย่างมีระดับนัยสำคัญที่ระดับ .05 ประกอบด้วย 4 ตัวแปร ได้แก่ 1.1) ด้านเจตคติการมีวินัย (0.08) 1.2) การเลียนแบบผู้ปกครองในการมีวินัย (0.10) 1.3) การเลียนแบบเพื่อนในการมีวินัย (0.11) และ 1.4) การเลียนแบบครูในการมีวินัย (0.14) 2) รูปแบบการพัฒนาจริยธรรมด้านการมีวินัยของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จาก 4 ตัวแปรสาเหตุ นำมาสู่กิจกรรม จำนวน 12 กิจกรรม ได้แก่ 2.1) ช่วยฟังหน่อย 2.2) วินัยน่ารู้ 2.3) วิเคราะห์และเลือกครูต้นแบบ 2.4) ค้นหาบุคคลต้นแบบ 2.5) การสร้างคุณค่าด้วยเวลา 2.6) คุ้นเคย 2.7) การรู้จักตนเอง 2.8) บทบาทหน้าที่ 2.9) การแสดงบทบาทสมมติ 2.10) แต่งกายดี 2.11) วจีไพเราะ และ 2.12) กิจกรรม 5 ส และ 3) ผลการทดลองใช้และประเมินผลพบว่า หลังการทดลองกลุ่มทดลองมีการพัฒนาจริยธรรมด้านการมีวินัย ดีขึ้นกว่ากลุ่มควบคุม และผลการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า หลังการทดลอง ค่าเฉลี่ยคะแนนในทุกตัวแปรตามของกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05