การออกแบบและพัฒนาระบบท่อนำแสงแนวนอนสำหรับอาคารประเภทสำนักงาน

Main Article Content

บริรักษ์ อินทรกุลไชย
วรภัทร์ อิงคโรจน์ฤทธิ์

Abstract

การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์การออกแบบและพัฒนาระบบท่อนำแสงแนวนอนสำหรับอาคารประเภทสำนักงานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและทิศทางการรับแสงธรรมชาติของระบบท่อนำแสงแนวนอนที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการนำพาแสงธรรมชาติและปริมาณแสงภายในอาคารประเภทสำนักงานของกรุงเทพมหานคร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้สำหรับประยุกต์ต่อยอดในการพัฒนาเทคนิคการนำแสงธรรมชาติมาใช้งานในอาคารสำนักงาน งานวิจัยนี้ศึกษาผ่านการจำลองสภาพแสงธรรมชาติและระบบท่อนำแสงแนวนอนด้วยโปรแกรม Photopia 3.0 โดยมีแบบจำลองประสิทธิภาพทางด้านแสงสว่างจำนวน 5 รูปแบบที่มีลักษณะของส่วนรวมแสงและส่วนนำพาแสงแตกต่างกัน และจำลองภายใต้สภาพท้องฟ้าโปร่งที่มีรังสีตรงจากดวงอาทิตย์ที่กระทำมุมต่างๆ กับพื้นโลก

ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพของระบบท่อนำแสงแนวนอน ได้แก่ 1) ทิศทางการรับแสงธรรมชาติ คือ ประสิทธิภาพของระบบท่อนำแสงแนวนอนจะแปรผกผันตามขนาดมุมของแสงที่กระทำกับแนวท่อในส่วนนำพาแสง โดยมุมขนาดเล็กจะให้ประสิทธิภาพของระบบท่อนำแสงแนวนอนสูง 2) ลักษณะของส่วนรวมแสง คือ ส่วนรวมแสงที่สามารถปรับทิศทางมุมแนวดิ่งและมุมแนวราบของแสงธรรมชาติในช่วงเวลาที่ต้องการให้ขนานกับท่อในส่วนนำพาแสงมากที่สุด จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบท่อนำแสงแนวนอน 3) ลักษณะของส่วนนำพาแสง คือ ส่วนนำพาแสงที่มีจำนวนการสะท้อนแสงภายในต่ำ (มุมตกกระทบของแสงมีขนาดใหญ่) ทำให้แสงถูกดูดกลืนน้อยส่งผลให้ประสิทธิภาพของระบบท่อนำแสงแนวนอนเพิ่มมากขึ้น 

Article Details

Section
บทความวิจัย